GSL: Dissertations

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 6 of 60
  • Item
    ปัญหากฎหมายในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
    ดาริกา โพธิรุกข์; พัชรวรรณ นุชประยูร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2020)
    ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในกระบวนการ ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยการศึกษากระบวนการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับสากลและในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลอดจนมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคจากการนำมาตรการทางกฎหมายไปบังคับใช้ และนำข้อค้นพบที่ ได้มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่า ในทางปฏิบัติกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังคงมีปัญหา ทางกฎหมาย ดังนี้ ประการแรกปัญหาการหลีกเลี่ยงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการ กำหนดประเภทและขนาดของโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือโครงการที่มีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ประการที่สองปัญหาเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประการที่สามปัญหาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ประการที่สี่ปัญหาการ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเรื่ององค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณา ระยะเวลา และผลของการอนุมัติหรืออนุญาต และประการสุดท้ายปัญหาการกำหนดมาตรการในการ ติดตามตรวจสอบและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องกระบวนการและขั้นตอนการจัดทำรายงาน ดังนี้ 1) ขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ เสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการกำหนดประเภทและ ขนาดของโครงการ โดยกำหนดให้การดำเนินโครงการที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หากโครงการใดที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญก็ให้ ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป รวมถึงให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการประกาศบัญชีรายชื่อของประเภทโครงการและขนาดที่ไม่ ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2) ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอให้ปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2527 ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม การขึ้นบัญชีดำผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนในการจัดทำรายงานเท็จ รวมถึงการจัดตั้ง หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3) องค์คณะในการพิจารณาและระยะเวลาในการพิจารณารายงาน โดยเสนอให้ เพิ่มสัดส่วนจากผู้แทนภาคเอกชนในองค์ประกอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ และควรกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงาน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งในโครงการ หรือกิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการ ร่วมกับเอกชนที่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงหลักเกณฑ์กรณีการนำ รายงานที่เคยผ่านการพิจารณามาแล้ว 5 ปี มาอนุมัติดำเนินโครงการ 4) เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นรองกรอง โครงการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การกำหนดขอบเขตการศึกษาและวิธีการประเมิน การ เก็บข้อมูล/ตัวอย่าง ข้อคิดเห็นต่อร่างรายงาน และการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะและให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้ง่าย 5) รัฐบาลควรกำหนดแนวนโยบายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความ ชัดเจนและแน่นอนในการบริหารเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นในเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายของการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า (Precautionary Principle) อันเป็นการ คาดการณ์ผลกกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ หรือกิจการ หรือการดำเนินการใด อันจะช่วยทำ ให้การบังคับใช้มาตรการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามเจตนารมณ์และเกิดประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น
  • Thumbnail Image
    Item
    มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองย่านชุมชนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
    ตุลญา โรจน์ทังคำ; บรรเจิด สิงคะเนติ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2020)
    ดุษฎีนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาข้อจำกัดของกฎหมายที่ เกี่ยวข้องในการให้ความคุ้มครองย่านชุมชนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ตลอดจนศึกษามาตรการ ทางกฎหมายของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการให้ความคุ้มครองย่านชุมชนประวัติศาสตร์เพื่อ นำมาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการให้ความคุ้มครองย่านชุมชน ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยไม่มีมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองย่าน ชุมชนประวัติศาสตร์ กรณีจึงเป็นการแตกต่างกับต่างประเทศที่มีมาตรการทางกฎหมายเฉพาะใช้ บังคับควบคู่กับกฎหมายการผังเมือง หรือมีกฎหมายผังเมืองกำหนดให้ความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ และเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่า มีขอบเขต ข้อจำกัดในการนำมาบังคับใช้เพื่อให้คุ้มครอง ย่านชุมชนประวัติศาสตร์ ดังนี้ 1) กฎหมายการผังเมืองไม่ได้มีการประกาศกำหนดขอบเขตของพื้นที่ ย่านชุมชนประวัติศาสตร์ รวมถึงการกำหนดผังเมืองรวมเกิดปัญหาซ้อนทับ (Overlay District) ระหว่างพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และพื้นที่พาณิชยกรรม 2) ปัญหาการไม่ได้กำหนดคำนิยามความเป็น ย่านชุมชนประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 3) ปัญหาการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ทำให้เกิดข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน 4) ปัญหาความซ้อนทับของหน่วยงานที่ รับผิดชอบ 5) ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 6) ปัญหาการขาดมาตรการสร้าง แรงจูงใจ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ผู้เขียนขอเสนอให้ประเทศไทยควรมีมาตรการทาง ทางกฎหมายอันเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติเพื่อใช้ควบคู่กับกฎหมายการผังเมือง ดังต่อไปนี้ 1) กำหนดให้ประกาศขอบเขตของพื้นย่านชุมชนประวัติศาสตร์โดยกฎหมายการผังเมือง ด้วยวิธีการระยะสั้นอาจกำหนดผังเมืองรวมในรูปแบบของข้อบัญญัติท้องถิ่น และในระยะยาวให้ กำหนดขอบเขตของพื้นที่ด้วยผังเมืองเฉพาะในรูปแบบของพระราชบัญญัติ 2) ให้มีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองย่านชุมชนประวัติศาสตร์ ภายใต้กรอบ แนวทาง ดังนี้ (1) กำหนดนิยามความเป็นย่านชุมชนประวัติศาสตร์โดยให้มีลักษณะครอบคลุมตัว อาคารสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่แวดล้อมที่ประกอบขึ้นเป็นย่านชุมชนทั้งหมดนั้น (2) กำหนดให้มีการจัดแบ่งประเภทของย่านชุมชนประวัติศาสตร์ โดยยึดตัวอาคารหรือ กลุ่มอาคารเป็นหลักในการพิจารณาเพื่อจำแนก (3) กำหนดการให้ความคุ้มครองในลักษณะเชิงเข้มงวดแต่ให้มีความยืดหยุ่นไปในตัว โดยการกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง รวมถึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเปิดโอกาสให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน รวมถึงประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอน กระบวนการประกาศและขึ้นทะเบียนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและนำเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาประกาศและขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย (3.1) กรณีการรื้อถอน ซ่อมแซมหรือทำประการใด ๆ อันเป็นการทำลายตัว อาคารหรือพื้นที่ของความเป็นย่านชุมชนนั้น หากเป็นกรณีเร่งด่วน ควรเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามี ส่วนร่วมในการรื้อถอน ซ่อมแซม ฯลฯ และควรกำหนดกรอบระยะเวลาไว้อย่างชัดเจน (3.2) หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักใน การทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองโดยมีคณะกรรมการอนุรักษ์ย่านชุมชน ประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษาและให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการย่านชุมชน ประวัติศาสตร์และในส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับ คณะกรรมการชุมชนทำหน้าที่ในการกลั่นกรอง พิจารณาความเป็นย่านชุมชนประวัติศาสตร์ในระดับ ท้องถิ่นก่อนนำเสนอเรื่องสู่การพิจารณาของหน่วยงานกลางเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อนุมัติการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ความคุ้มครอง (4) การมีส่วนร่วม ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทุก กระบวนการทุกขั้นตอนของการกำหนดความเป็นย่านชุมชนประวัติศาสตร์ ตลอดจนกระบวนการให้ ความคุ้มครองร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ (5) ควรกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของมาตรการทางเงิน มาตรการทาง ภาษี และมาตรการทางสังคมในการยกย่องให้รางวัลเป็นชุมชนต้นแบบ เป็นต้น
  • Thumbnail Image
    Item
    มาตรการทางกฎหมายในการจัดทำและควบคุมการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมือง
    ฐิติชญาน์ คงชู; พัชรวรรณ นุชประยูร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2020)
    การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำและ ควบคุมการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมืองของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นศึกษากรณีของรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) การรถไฟแห่งประเทศไทย (State Railway of Thailand; SRT), 2) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง ประเทศไทย (Mass Rapid Transit Authority of Thailand, MRTA) และ 3) กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration, BMA) วิธีการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารเป็นหลัก ได้แก่ บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและควบคุมการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมือง ของประเทศไทยและของต่างประเทศ หนังสือ บทความทางวิชาการ วิทยานิพนธ์งานวิจัย เป็นต้น โดยผู้วิจัยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อให้ได้แนวทางในการปรับปรุง และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและการควบคุมการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมือง ของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมืองนั้น มีการบริหารจัดการและการดำเนินการเดินรถภายใต้กฎหมายที่แตกต่างกัน โครงการรถไฟฟ้าในเขต เมืองแต่ละโครงการมีการดำเนินงานอย่างอิสระมีความเป็นเอกเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังขาด มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดทำและควบคุมการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมือง บาง องค์กรทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและเป็นผู้ควบคุมกำกับกิจการรถไฟฟ้า ทำให้บทบาทหน้าที่ของ องค์กร ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์กรในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่งผลทำให้กลไกในการ จัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าเกิดปัญหา 4 ประการ คือ 1) ปัญหากฎหมายด้านการควบคุมการเดินรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ 2) ปัญหากฎหมายด้านการควบคุมระบบการ เชื่อมต่อรางร่วมกัน 3) ปัญหากฎหมายด้านการควบคุมด้านความปลอดภัย และ 4) ปัญหากฎหมาย ด้านการควบคุมระบบตั๋วโดยสาร ข้อเสนอแนะ ควรมีการจัดโครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่ง มวลชนด้วยรถไฟฟ้าในเมืองให้มีความสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ขององค์กร โดยลดบทบาทและ อำนาจของการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้เป็นเพียง ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ทับซ้อนกับกรม ขนส่งทางรางซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ควบคุมกำกับกิจการรถไฟฟ้า ทำหน้าที่ในการควบคุมกิจการรถไฟฟ้า ในเมืองในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเดินรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ ระบบการเชื่อมต่อรางร่วมกัน ควบคุม มาตรฐานด้านความปลอดภัย และระบบตั๋วโดยสาร เป็นต้น
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการพัฒนาองค์กรในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศไทย
    สัจจวัตน์ เรืองกาญจน์กุล; ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    องค์กรจัดเก็บภาษีส่วนกลางของไทย ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ทั้งสามองค์กรดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในจัดเก็บเงินได้ให้แก่รัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศให้บรรลุและเป็นไปตามบทบาทภารกิจของรัฐ แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปัญหาในการจัดเก็บภาษีทำให้ทราบว่าองค์กรจัดเก็บภาษีมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การบริหารการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายประมาณการในแต่ละปี กล่าวคือมีรายได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บไว้ โดยวัตถุประสงค์ในการศึกษานี้เพื่อศึกษาปัญหาและพัฒนารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมตามแนวคิดองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ ที่นำไปสู่การบริหารการจัดเก็บภาษีที่มีความคล่องตัว และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการศึกษา พบว่า รูปแบบ ลักษณะโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการบริหารองค์กรจัดเก็บภาษีในปัจจุบันซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการอยู่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัด มีสายการบังคับบัญชาที่ยาว ขาดความคล่องตัว และการดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ทับซ้อนกันในหลายหน่วยงานทำให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดเก็บที่สูง เช่น อัตราค่าตอบแทนบุคลากรจำนวนมาก แต่กลับไม่จูงใจให้บุคลากรที่มีคุณภาพคงอยู่ เป็นต้น ซึ่งในอดีต ประเทศไทยมีการศึกษาแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดตั้งทบวงภาษี การจัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีแห่งชาติ หรือการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ซึ่งทำให้จำนวนเงินภาษีที่จัดเก็บได้ไม่เพียงพอกับงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และจากการศึกษารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีของประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและญี่ปุ่น ที่มีการเปลี่ยนสภาพรูปแบบองค์กรจากความเป็นราชการดั้งเดิมมาเป็นองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น ดังนั้น เพื่อการกำหนดรูปแบบองค์กรที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ผู้เขียนจึงได้วิเคราะห์ลักษณะเด่น ข้อจำกัดของรูปแบบองค์กรต่างๆ และแนวทางการพัฒนารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพบว่าหากมีการพัฒนารูปแบบขององค์กรจัดเก็บภาษีจากการเป็นส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นรูปแบบองค์กรกึ่งอิสระ โดยการยุบรวมทั้งสามกรมภาษีเดิมมาอยู่ภายใต้องค์กรใหม่โดยการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....ที่มีลักษณะรูปแบบเหมือนองค์การมหาชน ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นเพียงหน่วยงานในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ก็จะสามารถแก้ปัญหาการบริหารงานองค์กรให้มีความคล่องตัว เชี่ยวชาญ ลดความซ้ำซ้อนและบูรณาการการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Thumbnail Image
    Item
    ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่าง (Cryonics) เพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต 
    แคทรีน สหชัยยันต์; เกียรติพร อำไพ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต (Cryopreservation Contract) โดยศึกษาวิวัฒนาการข้อความคิดทั่วไปเกี่ยวกับการแช่แข็งร่างด้วยเทคโนโลยีไครโอนิกส์ (Cryonics) หลักการทั่วไปทางนิติกรรมสัญญา หลักการทางสัญญาสิทธิทฤษฎีและแนวคิดภายใต้หลักการเข้าสู่กระบวนการทางสัญญาการแช่แข็งร่าง พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคตในประเด็นปัญหาแนวคิดทางจริยธรรม ศาสนา ศีลธรรม และนิติปรัชญา ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของร่างและความเป็นผู้ทรงสิทธิ ปัญหาความสมบูรณ์ของสัญญาการแช่แข็งร่างด้วยเทคโนโลยีไครโอนิกส์จากหลักการทั่วไปทางสัญญาเกี่ยวกับประเด็นผู้ทรงสิทธิ ความสามารถของผู้ทรงสิทธิกรณีผู้เยาว์ การกำหนดแบบ และวัตถุประสงค์ของสัญญา และปัญหาการขาดหน่วยงานกำกับดูแลและการขาดอำนาจในการควบคุมการประกอบธุรกิจการแช่แข็งร่าง ทั้งนี้ ผู้เขียนศึกษาแนวทางขององค์การอนามัยโลกตลอดจนศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดการรับรองและแนวปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศแคนาดา กับประเทศไทย เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลธุรกิจการแช่แข็งร่างและการพัฒนากลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องนำมาซึ่งมาตรการที่ดีสำหรับสัญญาการแช่แข็งร่างในประเทศไทย เมื่อทำการศึกษาพบว่า กฎหมายไทยขาดหลักเกณฑ์การกำหนดความเป็นผู้ทรงสิทธิ ไม่มีหลักเกณฑ์เฉพาะที่ใช้บังคับแก่รูปแบบและวิธีการทำสัญญาการแช่แข็งร่าง ผลทางกฎหมายบางประการในกรณีที่การชําระหนี้ตามสัญญาการแช่แข็งร่างกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลัง และการเลิกสัญญาการแช่แข็งร่าง นอกจากนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแช่แข็งร่าง อย่างไรก็ตาม หลักกฎหมายบางหลัก เช่น หลักอิสระในทางแพ่ง หลักเสรีภาพในการทำสัญญา หลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หลักเสรีนิยม และหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีกฎหมายเฉพาะบังคับใช้ในประเทศไทย ผู้เขียนเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต” และเสนอแนะทางเลือกในการจัดหาเงินทุนในรูปแบบประกันชีวิตและการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบทรัสต์ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เสนอแนะแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อการแช่แข็งร่างในรูปแบบของประกันชีวิตและวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบของกองทรัสต์ไว้พอสังเขป
  • Thumbnail Image
    Item
    การยุบพรรคการเมืองตามระบบกฎหมายไทย
    กิตติศักดิ์ หนูชัยแก้ว; ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การยุบพรรคการเมืองตามระบบกฎหมายไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี วิวัฒนาการของการใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง และค้นหาขอบเขตที่ชัดเจนทางทฤษฎีในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง  และเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ ผลทางกฎหมาย ของการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนการศึกษาเพื่อนำเสนอรูปแบบการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีผลที่ได้จากการศึกษาสามประเด็น ดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก ปัญหาการยุบพรรคการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองของไทยนำเงื่อนไขของการจัดตั้งพรรคการเมืองไปผูกรวมกับการทำให้พรรคต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีข้อสังเกตุว่าเป็นลักษณะความต้องการของกฎหมายที่ให้พรรคการเมืองต้องเติบโตอย่างเร่งด่วน ซึ่งผิดกับหลักธรรมชาติของการรวมกลุ่มที่การมีสมาชิกจะต้องค่อยเพิ่มขึ้น แต่กฎหมายได้กำหนดให้ต้องมีจำนวนสมาชิกและต้องจัดตั้งจำนวนสาขาได้ตามที่กำหนด โดยเอาเงื่อนไขเหล่านี้มาเป็นข้อกำหนดให้พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองถ้าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีลักษณะที่ขัดกับเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายของจัดตั้งพรรคการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดการยุบพรรคการเมืองของไทย ควรยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขของการจัดตั้งพรรคที่ผูกโยงกับการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองส่วนนี้ออก  ประเด็นที่สอง ปัญหาของกลไกและบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองของไทยกับหลักการประชาธิปไตย  ผลการศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 บัญญัติเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ถึง 23 กรณี ซึ่งถือเป็นปัญหาที่กำหนดให้เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองของไทยเป็นเกณฑ์อย่างกว้าง และการวางขอบเขตอย่างกว้างเช่นนี้นำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีขอบเขตอย่างกว้างเช่นเดียวกัน อันส่งผลกระทบกระเทือนต่อสารัตถะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองซึ่งถือว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย จากการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมัน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศตุรกี และประเทศชิลี ผู้ศึกษามีความเห็นว่าเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองของไทยควรเป็นเกณฑ์อย่างแคบและศาลรัฐธรรมนูญยังคงเป็นองค์กรที่มีความเหมาะสมในการวินิจฉัยคดีการยุบพรรคการเมืองแต่ควรวินิจฉัยโดยจำกัดอำนาจของตนเองอย่างยิ่ง และควรใช้มาตรการในการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการสุดท้ายที่มิสามารถใช้มาตรการอื่นได้แล้วและการวินิจฉัยที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้จะต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจนเพียงพอและการกระทำของพรรคการเมืองมีท่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งการวินิจฉัยควรคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนด้วย ประเด็นที่สาม ปัญหาผลทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการยุบพรรคการเมือง ผลการศึกษาพบว่า เมื่อพรรคการเมืองใดโดนยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้วทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปด้วย ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่านานเท่าใด (แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดโทษ  10 ปี) ดังนั้น ผู้ศึกษามีความเห็นว่าควรที่จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและมีความสอดคล้องกับนานาประเทศ โดยลงโทษเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนของการกำหนดระยะเวลาในการตัดสิทธิทางการเมืองควรกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจในการลงโทษโดยคำนึงถึงความร้ายแรงและพฤติการณ์ของการกระทำความผิดนั้น และยังส่งผลต่อสมาชิกพรรคในหลายกรณีอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบลงแล้วย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของไทย และไม่ได้เป็นแนวทางหรือมาตรการในการแก้ปัญหาทางการเมืองไทยให้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเป็นการเพิ่มปัญหาต่อกระบวนการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองเสียมากกว่า ประกอบกับทำให้พรรคการเมืองไทยมีความอ่อนแอลงมากขึ้นและได้ใช้กลไกนี้เพื่อหวังผลทางการเมืองอีกด้วย ข้อเสนอแนะ การยุบพรรคการเมืองควรมีได้เฉพาะเหตุร้ายแรงและควรบัญญัติให้มีความชัดเจนไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อหลักการพื้นฐานในเหตุสองลักษณะ คือ พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และควรนำมาตรการ “สั่งให้เลิกการกระทำ” มาใช้แทนการยุบพรรคการเมืองในกรณีที่มีความร้ายแรงระดับกลาง ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่เลิกพรรคเองตามข้อบังคับ ส่วนกรณีอื่น ๆ เห็นควรยกเลิก โดยมีเป้าประสงค์เพื่อมุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ