GSL: Dissertations

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 6 of 57
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการพัฒนาองค์กรในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศไทย
    สัจจวัตน์ เรืองกาญจน์กุล; ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    องค์กรจัดเก็บภาษีส่วนกลางของไทย ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ทั้งสามองค์กรดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในจัดเก็บเงินได้ให้แก่รัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศให้บรรลุและเป็นไปตามบทบาทภารกิจของรัฐ แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปัญหาในการจัดเก็บภาษีทำให้ทราบว่าองค์กรจัดเก็บภาษีมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การบริหารการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายประมาณการในแต่ละปี กล่าวคือมีรายได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บไว้ โดยวัตถุประสงค์ในการศึกษานี้เพื่อศึกษาปัญหาและพัฒนารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมตามแนวคิดองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ ที่นำไปสู่การบริหารการจัดเก็บภาษีที่มีความคล่องตัว และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการศึกษา พบว่า รูปแบบ ลักษณะโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการบริหารองค์กรจัดเก็บภาษีในปัจจุบันซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการอยู่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัด มีสายการบังคับบัญชาที่ยาว ขาดความคล่องตัว และการดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ทับซ้อนกันในหลายหน่วยงานทำให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดเก็บที่สูง เช่น อัตราค่าตอบแทนบุคลากรจำนวนมาก แต่กลับไม่จูงใจให้บุคลากรที่มีคุณภาพคงอยู่ เป็นต้น ซึ่งในอดีต ประเทศไทยมีการศึกษาแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดตั้งทบวงภาษี การจัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีแห่งชาติ หรือการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ซึ่งทำให้จำนวนเงินภาษีที่จัดเก็บได้ไม่เพียงพอกับงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และจากการศึกษารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีของประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและญี่ปุ่น ที่มีการเปลี่ยนสภาพรูปแบบองค์กรจากความเป็นราชการดั้งเดิมมาเป็นองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น ดังนั้น เพื่อการกำหนดรูปแบบองค์กรที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ผู้เขียนจึงได้วิเคราะห์ลักษณะเด่น ข้อจำกัดของรูปแบบองค์กรต่างๆ และแนวทางการพัฒนารูปแบบองค์กรจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพบว่าหากมีการพัฒนารูปแบบขององค์กรจัดเก็บภาษีจากการเป็นส่วนราชการภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นรูปแบบองค์กรกึ่งอิสระ โดยการยุบรวมทั้งสามกรมภาษีเดิมมาอยู่ภายใต้องค์กรใหม่โดยการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....ที่มีลักษณะรูปแบบเหมือนองค์การมหาชน ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นเพียงหน่วยงานในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ก็จะสามารถแก้ปัญหาการบริหารงานองค์กรให้มีความคล่องตัว เชี่ยวชาญ ลดความซ้ำซ้อนและบูรณาการการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Thumbnail Image
    Item
    ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่าง (Cryonics) เพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต 
    แคทรีน สหชัยยันต์; เกียรติพร อำไพ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต (Cryopreservation Contract) โดยศึกษาวิวัฒนาการข้อความคิดทั่วไปเกี่ยวกับการแช่แข็งร่างด้วยเทคโนโลยีไครโอนิกส์ (Cryonics) หลักการทั่วไปทางนิติกรรมสัญญา หลักการทางสัญญาสิทธิทฤษฎีและแนวคิดภายใต้หลักการเข้าสู่กระบวนการทางสัญญาการแช่แข็งร่าง พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคตในประเด็นปัญหาแนวคิดทางจริยธรรม ศาสนา ศีลธรรม และนิติปรัชญา ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของร่างและความเป็นผู้ทรงสิทธิ ปัญหาความสมบูรณ์ของสัญญาการแช่แข็งร่างด้วยเทคโนโลยีไครโอนิกส์จากหลักการทั่วไปทางสัญญาเกี่ยวกับประเด็นผู้ทรงสิทธิ ความสามารถของผู้ทรงสิทธิกรณีผู้เยาว์ การกำหนดแบบ และวัตถุประสงค์ของสัญญา และปัญหาการขาดหน่วยงานกำกับดูแลและการขาดอำนาจในการควบคุมการประกอบธุรกิจการแช่แข็งร่าง ทั้งนี้ ผู้เขียนศึกษาแนวทางขององค์การอนามัยโลกตลอดจนศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดการรับรองและแนวปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศแคนาดา กับประเทศไทย เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลธุรกิจการแช่แข็งร่างและการพัฒนากลไกทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องนำมาซึ่งมาตรการที่ดีสำหรับสัญญาการแช่แข็งร่างในประเทศไทย เมื่อทำการศึกษาพบว่า กฎหมายไทยขาดหลักเกณฑ์การกำหนดความเป็นผู้ทรงสิทธิ ไม่มีหลักเกณฑ์เฉพาะที่ใช้บังคับแก่รูปแบบและวิธีการทำสัญญาการแช่แข็งร่าง ผลทางกฎหมายบางประการในกรณีที่การชําระหนี้ตามสัญญาการแช่แข็งร่างกลายเป็นพ้นวิสัยในภายหลัง และการเลิกสัญญาการแช่แข็งร่าง นอกจากนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแช่แข็งร่าง อย่างไรก็ตาม หลักกฎหมายบางหลัก เช่น หลักอิสระในทางแพ่ง หลักเสรีภาพในการทำสัญญา หลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หลักเสรีนิยม และหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีกฎหมายเฉพาะบังคับใช้ในประเทศไทย ผู้เขียนเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการแช่แข็งร่างเพื่อรอรับการรักษาด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีในอนาคต” และเสนอแนะทางเลือกในการจัดหาเงินทุนในรูปแบบประกันชีวิตและการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบทรัสต์ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เสนอแนะแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อการแช่แข็งร่างในรูปแบบของประกันชีวิตและวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบของกองทรัสต์ไว้พอสังเขป
  • Thumbnail Image
    Item
    การยุบพรรคการเมืองตามระบบกฎหมายไทย
    กิตติศักดิ์ หนูชัยแก้ว; ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การยุบพรรคการเมืองตามระบบกฎหมายไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี วิวัฒนาการของการใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง และค้นหาขอบเขตที่ชัดเจนทางทฤษฎีในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง  และเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ ผลทางกฎหมาย ของการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนการศึกษาเพื่อนำเสนอรูปแบบการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีผลที่ได้จากการศึกษาสามประเด็น ดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก ปัญหาการยุบพรรคการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองของไทยนำเงื่อนไขของการจัดตั้งพรรคการเมืองไปผูกรวมกับการทำให้พรรคต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีข้อสังเกตุว่าเป็นลักษณะความต้องการของกฎหมายที่ให้พรรคการเมืองต้องเติบโตอย่างเร่งด่วน ซึ่งผิดกับหลักธรรมชาติของการรวมกลุ่มที่การมีสมาชิกจะต้องค่อยเพิ่มขึ้น แต่กฎหมายได้กำหนดให้ต้องมีจำนวนสมาชิกและต้องจัดตั้งจำนวนสาขาได้ตามที่กำหนด โดยเอาเงื่อนไขเหล่านี้มาเป็นข้อกำหนดให้พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองถ้าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีลักษณะที่ขัดกับเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายของจัดตั้งพรรคการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดการยุบพรรคการเมืองของไทย ควรยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขของการจัดตั้งพรรคที่ผูกโยงกับการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองส่วนนี้ออก  ประเด็นที่สอง ปัญหาของกลไกและบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองของไทยกับหลักการประชาธิปไตย  ผลการศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 บัญญัติเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ถึง 23 กรณี ซึ่งถือเป็นปัญหาที่กำหนดให้เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองของไทยเป็นเกณฑ์อย่างกว้าง และการวางขอบเขตอย่างกว้างเช่นนี้นำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีขอบเขตอย่างกว้างเช่นเดียวกัน อันส่งผลกระทบกระเทือนต่อสารัตถะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองซึ่งถือว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย จากการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมัน ประเทศฝรั่งเศส ประเทศตุรกี และประเทศชิลี ผู้ศึกษามีความเห็นว่าเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองของไทยควรเป็นเกณฑ์อย่างแคบและศาลรัฐธรรมนูญยังคงเป็นองค์กรที่มีความเหมาะสมในการวินิจฉัยคดีการยุบพรรคการเมืองแต่ควรวินิจฉัยโดยจำกัดอำนาจของตนเองอย่างยิ่ง และควรใช้มาตรการในการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการสุดท้ายที่มิสามารถใช้มาตรการอื่นได้แล้วและการวินิจฉัยที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้จะต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจนเพียงพอและการกระทำของพรรคการเมืองมีท่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งการวินิจฉัยควรคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนด้วย ประเด็นที่สาม ปัญหาผลทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการยุบพรรคการเมือง ผลการศึกษาพบว่า เมื่อพรรคการเมืองใดโดนยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้วทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปด้วย ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่านานเท่าใด (แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดโทษ  10 ปี) ดังนั้น ผู้ศึกษามีความเห็นว่าควรที่จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและมีความสอดคล้องกับนานาประเทศ โดยลงโทษเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนของการกำหนดระยะเวลาในการตัดสิทธิทางการเมืองควรกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจในการลงโทษโดยคำนึงถึงความร้ายแรงและพฤติการณ์ของการกระทำความผิดนั้น และยังส่งผลต่อสมาชิกพรรคในหลายกรณีอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบลงแล้วย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของไทย และไม่ได้เป็นแนวทางหรือมาตรการในการแก้ปัญหาทางการเมืองไทยให้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเป็นการเพิ่มปัญหาต่อกระบวนการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองเสียมากกว่า ประกอบกับทำให้พรรคการเมืองไทยมีความอ่อนแอลงมากขึ้นและได้ใช้กลไกนี้เพื่อหวังผลทางการเมืองอีกด้วย ข้อเสนอแนะ การยุบพรรคการเมืองควรมีได้เฉพาะเหตุร้ายแรงและควรบัญญัติให้มีความชัดเจนไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อหลักการพื้นฐานในเหตุสองลักษณะ คือ พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และควรนำมาตรการ “สั่งให้เลิกการกระทำ” มาใช้แทนการยุบพรรคการเมืองในกรณีที่มีความร้ายแรงระดับกลาง ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่เลิกพรรคเองตามข้อบังคับ ส่วนกรณีอื่น ๆ เห็นควรยกเลิก โดยมีเป้าประสงค์เพื่อมุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ
  • Thumbnail Image
    Item
    หลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ของประเทศไทย
    ปกรณ์ วิญญูหัตถกิจ; นเรศร์ เกษะประกร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    การกำกับดูแลตนเองเป็นการกำกับดูแลรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลสมาชิกด้วยกันเอง ประเทศไทยก็ได้นำแนวทางการกำกับดูแลตนเองดังกล่าวมาใช้ในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ (ตลาดรอง) ของประเทศไทย โดยมีองค์กรกำกับดูแลตนเองทั้งในระดับตลาดหลักทรัพย์ อันได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในระดับสมาคมธุรกิจหลักทรัพย์ อันได้แก่ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองในปัจจุบันก็ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญหลายประการดังนี้ (1) พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่ได้รับรองสถานะองค์กรกำกับดูแลตนเองในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าองค์กรใดบ้างที่มีสถานะเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองและควรมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร (2) ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ส่งเสริมให้มีองค์กรกำกับดูแลตนเองในระดับสมาคมธุรกิจหลักทรัพย์ได้หลายแห่ง ทำให้ไม่มีองค์กรที่สามารถแบ่งเบาภาระงานด้านการกำกับดูแลสมาชิกได้อย่างเต็มที่หากมีการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต และ (3) หลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองผู้มีส่วนได้เสียในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์อย่างเหมาะสม เนื่องจากสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในตลาด ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของสมาชิกองค์กรกำกับดูแลตนเองเพื่อกีดกันการแข่งขัน และทำให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกขององค์กรกำกับดูแลตนเองและผู้ลงทุน ทั้งนี้จากการศึกษาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ของต่างประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา พบว่าทุกประเทศที่เลือกศึกษามีการรับรองสถานะองค์กรกำกับดูแลตนเองไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ อีกทั้งหลักเกณฑ์ของมาเลเซียและสหรัฐอเมริกาก็เปิดโอกาสให้มีองค์กรกำกับดูแลตนเองในระดับสมาคมธุรกิจหลักทรัพย์ได้หลายแห่ง โดยสมาคมธุรกิจหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาที่ถูกรับรองให้เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองตามกฎหมายสามารถแบ่งเบาภาระหน้าที่การกำกับดูแลสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ภายหลังการแปรรูปแล้วได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทุกประเทศที่เลือกศึกษามีการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองที่ดีเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความโปร่งใสที่คล้ายคลึงกัน เช่น มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย มีกระบวนการจัดการข้อเรียกร้อง มีการเปิดเผยร่างของกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์ และคำวินิจฉัย เป็นต้น ส่วนหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนมีความแตกต่างกันในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น มาเลเซียกำหนดสัดส่วนกรรมการอิสระในคณะกรรมการขององค์กรกำกับดูแลตนเองน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในขณะที่เกาหลีใต้กำหนดสัดส่วนกรรมการอิสระไว้มากกว่ากึ่งหนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียและสหรัฐอเมริกามีการแยกส่วนงานกำกับดูแลสมาชิกออกมาเป็นบริษัทโดยเฉพาะ ในขณะที่องค์กรกำกับดูแลส่วนใหญ่ได้แยกออกมาเพียงคณะกรรมการกำกับดูแลสมาชิก มาเลเซียมีกลไกการกำกับการดำเนินงานขององค์กรกำกับดูแลตนเองที่ครบถ้วนมากกว่าประเทศอื่น โดยแฉพาะการกำหนดหน้าที่ให้องค์กรกำกับดูแลตนเองต้องแจ้งให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐทราบเมื่อมีการลงโทษสมาชิก และการให้อำนาจหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐเข้าทำหน้าที่แทนองค์กรกำกับดูแลตนเองได้ในบางกรณี เป็นต้น ดังนั้นผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าควรนำแนวทางการกำกับดูแลตนเองของต่างประเทศมาแก้ไขปัญหาของประเทศไทยดังนี้ (1) ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้มีบทบัญญัติรับรองสถานะองค์กรกำกับดูแลตนเอง (2) กำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมให้มีองค์กรกำกับดูแลตนเองในระดับสมาคมธุรกิจหลักทรัพย์ได้หลายแห่ง และ (3) ควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองให้เป็นธรรม โปร่งใส และคุ้มครองผู้ลงทุนได้มากขึ้น เช่น ควรกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการองค์กรกำกับดูแลตนเองให้มีสัดส่วนกรรมการอิสระมากกว่ากึ่งหนึ่ง ควรกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลสมาชิกโดยเฉพาะ ควรเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. สามารถกำกับการดำเนินงานขององค์กรกำกับดูแลตนเองได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนองค์กรกำกับดูแลตนเองได้ เป็นต้น
  • Thumbnail Image
    Item
    Thai Legal Problem of Elderly Care : A Case Study of Service Care Units or Health Care Center for the Elderly under the National Health Security Law
    ทัศน์วรรณ สุมาลัย; บรรเจิด สิงคะเนติ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    วิทยานิพนธ์ปัญหาการคุ้มครองดูแลผู้สูงอายุในกฎหมายไทย ศึกษากรณีหน่วยบริการหรือศูนย์ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมาย แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การคุ้มครองดูแลสุขภาพและการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ โดยศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลสุขภาพและการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงปัญหาในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐส่วนอื่น รวมไปถึงการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมกับการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับสังคมไทย จากการศึกษาได้ค้นพบปัญหาทั้งระดับนโยบาย ข้อจำกัดของกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายประการที่กระทบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง อันนำมาสู่ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระดับนโยบาย และแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาอันใกล้นี้
  • Thumbnail Image
    Item
    กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังในประเทศไทย  
    นิดาวรรณ เพราะสุนทร; บรรเจิด สิงคะเนติ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังในประเทศไทยในปัจจุบัน ต่ำกว่ามาตรฐานสากลและไม่ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ซึ่งผู้ต้องขังอาจได้รับความเสียหายจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวคิด และทฤษฎีอันเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ต้องขัง 2) ศึกษาระบบและมาตรการกฎหมายในกติกาสากล กฎหมายต่างประเทศ และกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง 3) วิเคราะห์ปัญหากฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังในประเทศไทย 4) เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังในประเทศไทย โดยมีคำถามวิจัยว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังอย่างไร และอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังภายใต้ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับลักษณะข้อมูลของผู้ต้องขัง ตลอดจนอำนาจหน้าที่ภารกิจของราชทัณฑ์ ผลการวิจัยพบว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังในประเทศไทย อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ให้ใช้กับข้อมูลที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรม และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขังไว้แต่อย่างใด และพบว่า เป็นไปตามสมมุติฐาน กล่าวคือพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไม่สอดคล้องกับลักษณะข้อมูลของผู้ต้องขังที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากข้อมูลทั่วไป อันได้แก่ อัตลักษณ์ การแบ่งชั้น การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ทั้งยังไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Information) และไม่สอดคล้องกับการใช้ข้อมูลตามภารกิจของราชทัณฑ์ ซึ่งแตกต่างจากการคุ้มครองข้อมูลผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากลและนานาประเทศ ที่คุ้มครองข้อมูลผู้ต้องขังในระดับที่สูงกว่าข้อมูลทั่วไปและคำนึงถึงการใช้ข้อมูลเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้แก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เพิ่มเติม โดยให้มีบทคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง ตามแนวทางมาตรฐานสากล โดยกำหนดนิยามคำสำคัญ อาทิ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การประมวลผลข้อมูล ตลอดจนแบ่งประเภทข้อมูลรวมถึงข้อมูลอ่อนไหว กำหนดมาตรการการคุ้มครองข้อมูลของผู้ต้องขัง กำหนดสิทธิของผู้ต้องขังและหน้าที่ของราชทัณฑ์ เพื่อให้ราชทัณฑ์สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อรักษาความเรียบร้อยในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ