บทบาทครอบครัวกับการทารุณกรรมทางเพศเด็ก
by ณฐพร เยี่ยมฉวี
Title: | บทบาทครอบครัวกับการทารุณกรรมทางเพศเด็ก |
Other title(s): | The role of the family in child sexual abuse |
Author(s): | ณฐพร เยี่ยมฉวี |
Contributor(s): | NIDA. School of Social and Environmental Development |
Advisor: | หลี่ เหรินเหลียง |
Degree name: | ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การบริหารการพัฒนาสังคม |
Degree department: | คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2018 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาการทารุณกรรมทางเพศที่เกิดกับเด็ก 2) เพื่อศึกษาบทบาทของครอบครัวในการดูแลเด็กก่อนมีการทารุณกรรมทางเพศ 3) เพื่อศึกษาการจัดการของเด็กระหว่างมีการทารุณกรรมทางเพศ และ 4) เพื่อศึกษาบทบาทของครอบครัวในการจัดการปัญหาเมื่อรับรู้ว่าเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ
ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึก มีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 2 กลุ่ม
คือ เด็กอายุระหว่าง 11-15 ปี ที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ และเข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ จำนวน 12 ราย และครอบครัวหรือผู้ดูแล จำนวน 12 ราย รวมเป็น 24 ราย มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยจัดหมวดหมู่ข้อมูล และตีความ ควบคู่กับการเทียบเคียงทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และบริบท
ผลของการศึกษาพบว่า 1) ปัญหาทารุณกรรมทางเพศนับเป็นสถานการณ์ที่มีความรุนแรง เนื่องจากมีการล่วงล้ำไปในอวัยวะเพศของเด็ก สามารถแบ่งเด็กได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่เด็กยินยอมมีเพศสัมพันธ์ และ กรณีที่เด็กไม่ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นการยินยอม โดยผู้กระทำมักอยู่ในฐานะแฟน ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุได้ง่าย คือ ดูแลของครอบครัว เทคโนโลยีการสื่อสารที่เอื้ออำนวยให้เด็กกับผู้กระทำติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว เด็กไม่มีความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสม ไม่รู้จักการป้องกันระมัดระวังตนเอง มีทักษะเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์และการปฏิเสธต่ำ เด็กยินยอมด้วยความรักและไว้ใจผู้กระทำจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด 2) สถาบันครอบครัวในปัจจุบันค่อนข้างอ่อนแออันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ครอบครัวต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นครอบครัวแตกแยกมากขึ้น ไม่เข้าใจพัฒนาการและขาดทักษะการดูแลเด็กที่เหมาะสม ไม่สอนความรู้จำเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ให้แก่เด็ก โดยรูปแบบการดูแลของครอบครัวที่เสี่ยงให้เกิดการทารุณกรรมทางเพศเด็กมี 2 ประเภท คือ การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยและการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด 3) เมื่อเกิดการทารุณกรรมทางเพศเด็กไม่มีอำนาจในการต่อรองเรื่องคุมกำเนิดแม้เด็กกับผู้กระทำจะอยู่ในฐานะแฟนที่สามารถต่อรองได้ เมื่อเกิดเหตุแล้วเด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะปกปิดเนื่องจากกลัวครอบครัวลงโทษ ครอบครัวต้องเป็นผู้สังเกตเอง ทั้งนี้สัมพันธภาพที่ดีของเด็กและครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มยอมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 4) เมื่อครอบครัวทราบเรื่องครอบครัวจะตกอยู่ในช่วงปรับตัวไม่ทันอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นครอบครัวจะมีบทบาทเจรจาต่อรองกับผู้กระทำ แจ้งความเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และตัดสินใจเรื่องใช้ยาฝังคุมกำเนิด บทบาทที่สำคัญและพบว่าเป็นปัญหา คือ การสร้างข้อตกลงเพื่อปรับพฤติกรรมและดูแลสภาพจิตใจของเด็ก เนื่องจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่มีมาตั้งแต่ต้น มีความห่างเหินในความสัมพันธ์ดั้งเดิม ประกอบกับสภาพจิตใจที่ยังกระทบกระเทือนอยู่กับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่สัมพันธภาพจะแย่ลง ครอบครัวมีแนวโน้มใช้การเลี้ยงดูเด็กแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องมีหน่วยงานให้คำแนะนำและเข้าไปมีส่วนร่วมในการเยียวยาให้ครอบครัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีแนวโน้มจะพัฒนารูปแบบครอบครัวที่ดีกว่าเดิม
ข้อเสนอแนะ 1) ควรให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว โดยเสริมความรู้ ทักษะจำเป็นสำหรับเลี้ยงดูบุตรวัยรุ่นให้แก่ครอบครัว รวมถึงการจัดการปัญหาเมื่อเกิดการทารุณกรรมทางเพศเด็กแล้ว 2) ควรให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันโรค การคุมกำเนิด รวมถึงการเสริมสร้างทักษะการปฏิเสธแก่เด็ก 3) ควรประชาสัมพันธ์แหล่งให้ข้อมูล แหล่งให้ความช่วยเหลือ และแหล่งให้คำปรึกษาแก่เด็กและครอบครัวให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (การบริหารการพัฒนาสังคม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2560 |
Subject(s): | การทารุณทางเพศต่อเด็ก
เด็ก -- ไทย -- การคุ้มครอง เด็กที่ถูกทำร้ายทางเพศ เหยื่ออาชญากรรม |
Keyword(s): | e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 157 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/3700 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|