การประเมินความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน: กรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนา
by กฤษณ์ จารุดำรงศักดิ์
Title: | การประเมินความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน: กรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนา |
Other title(s): | Evaluation of sustainability of community enterprise : A case study of Baan Lang Pattana Agriculturist's Housewives Group |
Author(s): | กฤษณ์ จารุดำรงศักดิ์ |
Advisor: | จุฑารัตน์ ชมพันธุ์ |
Degree name: | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การจัดการสิ่งแวดล้อม |
Degree department: | คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2017 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนา 2) เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน 3) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงาน และ 4) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อความยั่งยืน การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสารรายงานทางบัญชีของวิสาหกิจชุมชนย้อนหลัง 1 ปี และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในวิสาหกิจชุมชน 2) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน และ 3) กลุ่มผู้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 24 ท่าน ประเมินผลความยั่งยืนด้วยวิธีของ Deutsche Gesellschaft fur Internationale Zusammenarbeit (GIZ) โดยกำหนดประเด็นการประเมิน ได้แก่ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ผลกระทบ ความยั่งยืน และความสอดคล้อง และประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ในกิจกรรมการผลิตข้าวเกรียบสมุนไพร
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนาได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และได้มีกิจกรรมการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การดำเนินงานสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในกลุ่ม โดยต่อมาได้รับการยกระดับขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชนและได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ภายใต้การดูแลสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ประธานวิสาหกิจชุมชนยังได้มุ่งเน้นให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สร้างรายได้เสริมแก่สมาชิกที่เป็นแม่บ้านเกษตรกร และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนด้วย ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ในกิจกรรมการผลิตข้าวเกรียบสมุนไพร ซึ่งเป็นสินค้าหลัก มีการผลิต และจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี โดยได้รวบรวมข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2559 ต้นทุนสุทธิ ได้แก่ ต้นทุนทางตรง ต้นทุนทางอ้อม และผลตอบแทนสุทธิ ได้แก่ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า ผล SROI เท่ากับ 1.23 หมายถึง กิจกรรมการผลิตข้าวเกรียบสมุนไพรสร้างมูลค่าผลตอบแทนทางสังคมได้มากกว่าการลงทุนขั้นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่มีผลต่อความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ผลการประเมินการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน พบว่า วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ อยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้โดยปราศจากความขัดแย้ง มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในชุมชน มีกระบวนการพัฒนาความรู้ด้วยตนเองอยู่ตลอด สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการจัดการของเหลือทิ้งจากการผลิต และสมาชิกได้รับการตอบสนองต่อความคาดหวังจากการทำงาน การประเมินผลความยั่งยืนด้วยวิธีของ GIZ พบว่า การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้คะแนน 4.50 จาก 5.00 ซึ่งอยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนสูงมากตามเกณฑ์การประเมิน และยังพบประเด็นที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกับธุรกิจเอกชน และ 2) การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในชุมชนเพื่อลดผลกระทบสู่ภายนอก
แนวทางการปรับปรุงพัฒนาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนา ประกอบด้วย 1) เชิงนโยบาย ประกอบไปด้วย การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีความแตกต่างจากวิสาหกิจชุมชนอื่น และการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 2) เชิงปฏิบัติการ ประกอบไปด้วย การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างเป็นเครือข่าย ช่วยเพิ่มกำลังการต่อรองการซื้อวัตถุดิบ และการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรภายในวิสาหกิจชุมชน ลดการผลิตของเสียสู่สิ่งแวดล้อม และ 3) ส่วนสนับสนุน ประกอบด้วย การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ของเหลือทิ้งจากกระบวนการ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความโดดเด่นมากขึ้นโดยร่วมมือกับภาคเอกชน |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การจัดการสิ่งแวดล้อม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2560 |
Subject(s): | วิสาหกิจชุมชน |
Keyword(s): | e-Thesis
ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน การประเมินความยั่งยืน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านแลงพัฒนา |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 127 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/3771 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|