เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ กรณีศึกษากลุ่มป่าตะวันออก
by อธิราช ทวีปฏิมากร
Title: | เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ กรณีศึกษากลุ่มป่าตะวันออก |
Other title(s): | Payment for ecosystem services : A case study on eastern forest complex |
Author(s): | อธิราช ทวีปฏิมากร |
Advisor: | อุดมศักดิ์ ศีลประชาวงศ์ |
Degree name: | เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ |
Degree department: | คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2017 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การบริหารจัดการกลุ่มป่าตะวันออกในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่มีต่อทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาที่ขาดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรอื่นอย่างทรัพยากรน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่อาจหลีกลี่ยงได้ ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพจะต้องสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งแนวทางดังกล่าวคือ แนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ (Payment For Ecosystem Service)
แนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ เป็นแนวคิดที่วางอยู่บนหลักการ ผู้ใช้ประโยชน์เป็นผู้จ่าย (Beneficiary Pays Principle) จากหลักการดังกล่าวผู้ใช้ประโยชน์นิเวศบริการจากกลุ่มป่าตะวันออกจะต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนคุณระบบนิเวศและเพื่อให้ระบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพจึงต้องประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของนิเวศบริการแต่ละประเภท ทั้งนี้ได้ศึกษาผู้ใช้ประโยชน์นิเวศบริการทั้งหมด 4 กลุ่มคือ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ครัวเรือนที่ใช้บริการน้ำประปาและเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหาความเต็มใจจะจ่ายของผู้ใช้ประโยชน์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนิเวศบริการ ซึ่งได้แก่ ความเต็มใจจะจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ความเต็มใจจะบริจาคเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ความเต็มใจจะจ่ายค่าบริการน้ำประปาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งประเมินมูลค่าด้วยวิธีสมมติเหตุการณ์ (CVM) และความเต็มใจจะจ่ายค่าชลประทานในจังหวัดจันทบุรีซึ่งประเมินมูลค่าด้วยวิธีสมมติเหตุการณ์เปรียบเทียบกับวิธีการโอนฟังก์ชันมูลค่า (Function Transfer)
ผลการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 79 ยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานเพิ่มขึ้นหากทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ซึ่งมีค่าความเต็มใจจะจ่ายเฉลี่ย 130.65 บาทต่อคนต่อครั้ง และมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 120 บาทต่อคนต่อครั้ง นอกจากนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันร้อยละ 72 ยินดีที่จะบริจาคเงินเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ซึ่งเต็มใจจะบริจาคเงินเฉลี่ย 1,218.62 บาทต่อคน และค่ามัธยฐานเท่ากับ 1,000 บาทต่อคน ทั้งนี้มูลค่าที่ไม่ได้ใช้ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วจากนักท่องเที่ยวมีค่าเท่ากับ 652,312,727.46 บาท
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่นและสงขลา(เมืองใหญ่) ร้อยละ 62 ยินดีที่จะบริจาคเงินเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วเฉลี่ย 632.64 บาทต่อคน และมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 300 บาทต่อคน ทั้งนี้มูลค่าที่ไม่ได้ใช้ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วจากประชาชนที่อาศัยในเมืองใหญ่มีค่าเท่ากับ 3,369,030,459.84 บาท ซึ่งมูลค่าที่ไม่ได้ใช้ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วรวมทั้งของนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อาศัยในเมืองใหญ่มีค่าเท่ากับ 4,021,343,187.30 บาท
ครัวเรือนที่ใช้บริการน้ำประปาในเขตจังหวัดจันทบุรีร้อยละ 68 ยินดีจ่ายค่าบริการน้ำประปาเพิ่มขึ้นหากปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไม่เปลี่ยนแปลงลดลง โดยมีความเต็มใจจ่ายค่าน้ำประปาเพิ่มขึ้นจากปกติค่าเฉลี่ยเท่ากับ 104.61 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่ามัธยฐานเท่ากับ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีส่วนใหญ่ไม่ยินดีจ่ายค่าชลประทานทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งค่าความเต็มใจจ่ายค่าชลประทานเฉลี่ยในฤดูฝนเท่ากับ 12.66 บาทต่อไร่ต่อฤดูกาลและในฤดูแล้งเท่ากับ 19.23 บาทต่อไร่ต่อฤดูกาล ส่วนค่ามัธยฐานของความเต็มใจจ่ายค่าชลประทานทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งมีค่าเท่ากับ 10 บาทต่อไร่ต่อฤดูกาล
การศึกษาความเต็มใจจะจ่ายเพื่อนิเวศบริการของผู้ใช้ประโยชน์ทั้ง 4 กลุ่มชี้ให้เห็นถึงศักยภาพด้านแหล่งเงินทุนในการดำเนินงานตามมาตรการตอบแทนคุณระบบนิเวศอย่างสำคัญ ดังนั้น นโยบายเพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนของมาตรการดังกล่าวจึงมีข้อเสนอดังนี้คือ 1) อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วควรปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานเป็น 50-80 บาทต่อคนต่อครั้ง 2) ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วโดยรับบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ 3) การประปาส่วนภูมิภาคสาขาจันทบุรีควรปรับขึ้นอัตราค่าบริการน้ำประปาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แต่ควรเป็นลักษณะการร่วมจ่ายระหว่างการประปากับผู้ใช้น้ำ 4) กรมชลประทานควรจัดเก็บค่าชลประทานจากเกษตรกรในเขตชลประทานตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความตระหนักและรู้คุณค่าทรัพยากรน้ำ
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานและการรับบริจาคเงินเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพสามารถดำเนินการได้ทันที แต่การปรับขึ้นค่าบริการน้ำประปาและการเก็บค่าชลประทานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในจังหวัดจันทบุรีควรมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนดำเนินการเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศ.ม. (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2560 |
Subject(s): | ระบบนิเวศ |
Keyword(s): | e-Thesis
การจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ นิเวศบริการ |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 233 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/3784 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|