การศึกษาระดับความสำเร็จและผลกระทบด้านความเป็นธรรมทางการกระจายรายได้จากการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อประเทศไทย : กรณีศึกษาขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษี พ.ศ. 2560
by อานนท์ เทพสำเริง
Title: | การศึกษาระดับความสำเร็จและผลกระทบด้านความเป็นธรรมทางการกระจายรายได้จากการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อประเทศไทย : กรณีศึกษาขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษี พ.ศ. 2560 |
Other title(s): | The study of achievement levels and equity impact on income distribution from the structural reform of personal income tax in Thailand : a case study of personal income tax rates in 2017 |
Author(s): | อานนท์ เทพสำเริง |
Advisor: | พลภัทร บุราคม |
Degree name: | รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะรัฐประศาสนศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2017 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรัฐบาลต่อประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.1) ระดับบริบทของนโยบาย 1.2) ระดับความเป็นไปได้ของนโยบาย 1.3) ระดับกระบวนการของนโยบาย 1.4) ระดับผลงานของนโยบาย 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเป็นธรรมทางการกระจายรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรัฐบาลต่อประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2560 โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น คือ 2.1) การวิเคราะห์ภาระทางภาษี 2.2) ค่าสัมประสิทธิ์ความเสมอภาค 2.3) อัตราภาษีที่แท้จริง 2.4) การกระจายรายได้ก่อนและหลังการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย และ 3) เพื่อสรุปและเสนอแนะในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560
ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า 1) ระดับบริบทของนโยบาย ผู้บริหารระดับสูงได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจไทย โดยการกำหนดนโยบายนั้นมีความชัดเจนในด้านหลักเกณฑ์และอัตราภาษีที่บังคับใช้ เช่น การเพิ่มค่าลดหย่อน การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการปรับฐานภาษีที่เป็นธรรมต่อสังคมมากขึ้น เป็นต้น การตอบสนองความต้องการของประชาชนดังกล่าวนั้นได้สร้างความเป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ในประเทศไทยในด้านของการบริหารการจัดเก็บภาษีมากขึ้น 2) ระดับของความเป็นไปได้ของนโยบายนั้น ผู้บริหารระดับสูงได้มีการคำนึงถึงผลลัพธ์ของความเป็นไปได้ของนโยบายต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติ โดยจำนวนบุคลากรมีเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนกลาง ที่ทันสมัย และจำนวนงบประมาณที่จัดสรรในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560 ยังมีเพียงพอต่อภาระงานที่จำนวนบุคลากรได้รับ 3) ระดับกระบวนการของนโยบาย มีการกำหนดผู้รับผิดชอบของการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างชัดเจน ส่งผลให้ปัญหาของหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีลดลง ผ่านการระบุฐานภาษีที่มีความชัดเจนต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทักษะของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่นั้นยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจาก ยังขาดเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดเก็บภาษีที่เป็นแบบใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกอบรมที่มากขึ้น รวมทั้ง การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน อีกทั้ง เทคโนโลยียังไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4) ระดับผลงานของนโยบาย หลังการจัดเก็บภาษีลูกหนี้ทางภาษีได้ปรับตัวลดลง ประชาชนมีการเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น คดีความทางภาษีมีจำนวนน้อยลง ตามการปรับลดค่าลดหย่อน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ และหลุดพ้นจากคดีความทางภาษี ส่งผลให้การหลีกเลี่ยงภาษีมีจำนวนเท่าเดิมหรือลดลง เนื่องจาก การชำระหรือไม่ชำระภาษีนั้น เป็นปัจจัยทางพฤติกรรมของผู้เสียภาษีเอง จึงทำให้กรมสรรพากรไม่ได้ปรับขึ้นต้นทุนภาษี และคงต้นทุนภาษีเท่าเดิม
ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า การกระจายรายได้หลังการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560 พบว่า เมื่อทำการเปรียบเทียบการกระจายรายได้ก่อนและหลังการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนั้น ครัวเรือนในชั้นรายได้ต่าง ๆ มีการปรับตัวของความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ในทิศทางที่ดีขึ้น ครัวเรือนรายได้สูงสุดเป็นผู้แบกรับภาระภาษีมากขึ้น เป็นการสะท้อนถึงการแก้ปัญหาของนโยบาย ที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่สุดแบกรับภาษีแทน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและเกิดความเสมอภาคต่อประชาชนผู้มีเงินได้ทุกคนภายในประเทศไทย และเมื่อได้ทำการเปรียบเทียบค่าสัมประสิทธิ์จีนี การกระจายรายได้ก่อนและหลังการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนั้น พบว่า มีการปรับตัวของความเป็นธรรมทางการกระจายรายได้ในภาพรวมของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560 ของประเทศไทยในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจาก กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ออกนโยบายที่ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มค่าลดหย่อน ขยายฐานภาษีให้กับประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง และยกเว้นภาษีให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์จีนีมีการปรับตัวในทิศทางที่สอดคล้องกับความเป็นธรรมทางการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น เมื่อวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของรายได้ประจำของครัวเรือนในแต่ละปีแล้วนั้น พบว่า มีความเป็นธรรมที่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง และรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้น ตามลำดับ จึงทำให้การกระจายรายได้ในประเทศไทยมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560 จึงมีความสำคัญต่อการแบกรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่สุด เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นผ่านการปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ.ศ. 2560 |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (รป.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2560 |
Subject(s): | การนำนโยบายไปปฏิบัติ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การกระจายรายได้ |
Keyword(s): | e-Thesis
ระดับความสำเร็จ ความเป็นธรรม |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 272 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4030 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|