การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคประเทศไทย 4.0กรณีศึกษา: สถาบันการเงินประเภทธนาคาร
by วิริยา ลีลาสุธานนท์
Title: | การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคประเทศไทย 4.0กรณีศึกษา: สถาบันการเงินประเภทธนาคาร |
Other title(s): | Human resource management and development in Thailand 4.0 : a case study of financial institutions, banks |
Author(s): | วิริยา ลีลาสุธานนท์ |
Advisor: | สมบัติ กุสุมาวลี |
Degree name: | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ |
Degree department: | คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2018 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทิศทางและแนวโน้มการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินประเภทธนาคารในยุคประเทศไทย 4.0 และเพื่อศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมบุคลากรในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินประเภทธนาคารเพื่อก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ระเบียบวิธีวิจัยที่ผู้วิจัยเลือกใช้ คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างเป็นเครื่องมือในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินประเภทธนาคาร จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 2 คน โดยทำการวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน 3 กระบวนการหลัก ผลการวิจัยพบว่า
1) การจัดหาทรัพยากรมนุษย์ (Acquiring Human Resource) พบว่า มีแนวโน้มในการวางแผนปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนโดยการชะลอการรับอัตรากำลังคนเพิ่ม และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำงานทดแทนงานบางตำแหน่งของมนุษย์ ขณะเดียวกันได้มีแนวโน้มในการวางแผนเพิ่มอัตรากำลังคนที่มีทักษะและศักยภาพที่ตรงตามความต้องการขององค์การ เพื่อมารองรับหน่วยงาน หรือการให้บริการรูปแบบใหม่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาพัฒนาช่องทางการสรรหาและพัฒนาระบบการคัดเลือกให้สามารถแข่งขันและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent) เข้ามาร่วมงานกับองค์การ
2) การธำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ (Maintaining Human Resource) พบว่า มีแนวโน้มในการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี โดยมีการปรับปรุงระบบการบริหารค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับความคาดหวังของคนยุคใหม่ และมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนแทนพิเศษให้กับกลุ่มคนที่มีศักยภาพ หรือกลุ่มแรงงานรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่บุคลากร (Employee Experience) ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของบุคลกร (Work-Life Balance)
3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (Developing Human Resource and Organization) พบว่า มีแนวโน้มในการมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการ การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลักษณะและรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก ส่งเสริมให้เกิดทักษะใหม่ (Discovery Skill) ด้านแนวคิดเชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีการเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถวางแผนความก้าวหน้าทางสายอาชีพของตนเองรวมถึงเปิดโอกาสให้มีการหมุนเวียนงานภายในองค์การเพื่อให้บุคลากรได้มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายเท่าทันสถานการณ์ สำหรับการพัฒนาองค์การของสถาบันการเงินประเภทธนาคาร พบว่า มีแนวโน้มในการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานให้มีความรวดเร็ว กระชับ คล่องตัว (Agility) และทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินประเภทธนาคารในยุคประเทศไทย 4.0 ผู้ให้สัมภาษณ์ได้เสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินประเภทธนาคารเพื่อก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ในทิศทางเดียวกัน โดยผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์สรุปเป็น 5 แนวทาง คือ 1) ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 2) พัฒนารูปแบบการทำงาน 3) สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่บุคลากร 4) ปรับเปลี่ยนบทบาทนักทรัพยากรมนุษย์สู่บทบาทของผู้อำนวย และ5) พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561 |
Subject(s): | สถาบันการเงิน
ธนาคาร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
Keyword(s): | e-Thesis
การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทย 4.0 |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 191 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4472 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|