การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน:ศึกษาตามความตกลงทริปส์
by ภัทรพร เย็นบุตร
ชื่อเรื่อง: | การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน:ศึกษาตามความตกลงทริปส์ |
ชื่อเรื่องอื่นๆ: | Geographical indication protection for sustainable development: a study of TRIPS agreement. |
ผู้แต่ง: | ภัทรพร เย็นบุตร |
ผู้ควบคุมงานวิจัย: | วริยา ล้ำเลิศ |
ชื่อปริญญา: | นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต |
ระดับปริญญา: | Doctoral |
คณะ/หน่วยงาน: | คณะนิติศาสตร์ |
หน่วยงานที่ประสาทปริญญา: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
วันที่เผยแพร่: | 2561 |
หน่วยงานที่เผยแพร่: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ: |
Protection of geographical indications requires international law consistent with the principles of sustainable development, i.e. balance between economic, social, and environmental. As the knowledge acquired from the natural resources and environment in the designation of origin belongs to each community. If it is protected only by the domestic law of such designation of origin, community producing products may be abused by other countries that unfairly exploit the reputation of the community's geographical indication in commercial purpose. In addition, if a country that applies international law into its domestic law has different approaches to protection of geographical indications, it may be an obstacle or barrier to sustainable development. This is because the same types of goods in foreign countries are no longer protected or protected less. The community that produces such goods, therefore, does not receive fair benefits, which is social inequality. It also reduces consumer confidence in the specific characteristics of protected goods. This may cause the community to lose the economic benefits from the reputation of the product. They eventually reduce the importance of preserving natural resources and local wisdom which actually being the factor in producing goods.
การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะองค์ความรู้ที่ประยุกต์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแหล่งกำเนิดสินค้าของแต่ละชุมชน หากได้รับการคุ้มครองเพียงกฎหมายภายในประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ชุมชนผู้ผลิตก็อาจถูกละเมิดสิทธิโดยต่างประเทศที่นำชื่อเสียงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของชุมชนไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้าโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งหากประเทศซึ่งอนุวัติการกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเป็นกฎหมายภายในประเทศ มีแนวทางการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ด้วยเหตุที่สินค้าอย่างเดียวกันในต่างประเทศกันกลับไม่ได้รับการคุ้มครองหรือได้รับการคุ้มครองน้อยกว่า ชุมชนผู้ผลิตสินค้าจึงไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมอันเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นการลดทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าที่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ชุมชนผู้ผลิตสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากชื่อเสียงสินค้า พวกเขาจึงลดความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นปัจจัยการผลิตสินค้า
ในงานวิจัยนี้ได้มุ่งศึกษาถึงความตกลงทริปส์เป็นสำคัญ เพราะมีหลักเกณฑ์นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประเทศภาคีสมาชิกยอมรับจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ความตกลงทริปส์มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีหลักเกณฑ์คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันสามารถช่วยรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ ณ แหล่งต้นกำเนิดสินค้า ไว้ให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ แต่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจดทะเบียนระหว่างประเทศ ทำให้สมาชิกบางประเทศได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และขาดแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลักเกณฑ์ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองในการจดทะเบียน เงื่อนไขการจดทะเบียนและการขอแก้ไขข้อมูลการจดทะเบียน ข้อยกเว้นการละเมิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น หากแก้ไขความตกลงทริปส์ให้ชัดเจนขึ้นในประเด็นดังกล่าวก็จะช่วยให้ประเทศภาคีสมาชิกนำหลักเกณฑ์ตามความตกลงทริปส์ไปอนุวัติการให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
จากผลการศึกษาผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความตกลงทริปส์ ดังนี้
1. ควรมีหลักเกณฑ์การจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายใต้ความตกลงทริปส์ ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถนำสินค้าที่คุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายเฉพาะ หรือระบบเครื่องหมายการค้ามาขอจดทะเบียนก็ได้ และให้เป็นทางเลือกว่าจะจดทะเบียนคุ้มครองในระดับทั่วไปตามมาตรา 22 หรือระดับสินค้าเฉพาะอย่างตามมาตรา 23 แห่งความตกลงทริปส์ ซึ่งต้องสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามกฎหมายภายในประเทศที่ขอจดทะเบียนด้วย เพื่อให้มีความสุจริตต่อกัน และช่วยคัดกรองข้อมูลก่อนรับจดทะเบียน อีกทั้งไม่ควรจำกัดประเภทสินค้าที่ขอจดทะเบียนคุ้มครองตามมาตรา 23 ให้เป็นเพียงไวน์หรือสุราเท่านั้น
2. ควรเพิ่มหลักเกณฑ์หรือตีความการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศแหล่งกำเนิดให้รวมถึงการที่ประเทศแหล่งกำเนิดมีหลักเกณฑ์ควบคุมตรวจสอบ ตลอดจนมีขั้นตอนพิสูจน์เชื่อมโยงคุณลักษณะเฉพาะของสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์อันมีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ซึ่งอาจเชื่อมโยงด้วยชื่อเสียงของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างสรรค์กระบวนการผลิต หรือการตระเตรียมการผลิตก็ได้ นอกจากนี้ ประเทศที่ขอจดทะเบียนไว้แล้วอาจขอแก้ไขข้อมูลการจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยความเชื่อมโยงชื่อเสียงสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ ซึ่งรวมถึงขอขยายหรือขอลดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เคยระบุไว้ในการจดทะเบียนได้ ภายใต้การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหลักสุจริตต่อกัน
3. ควรใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในการพิจารณาถึงความเป็นชื่อสามัญของสินค้า ซึ่งชื่อที่ขอจดทะเบียนต้องไม่ตกเป็นชื่อสามัญในประเทศที่ขอจดทะเบียน และเพิ่มเติมให้ประเทศที่มีจารีตประเพณีแสดงว่าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ขอจดทะเบียนเป็นชื่อสามัญของสินค้าในประเทศตน จะต้องนำเสนอข้อมูลการตกเป็นชื่อสามัญนั้นให้ผู้พิจารณาคำขอจดทะเบียนตามความตกลงทริปส์ทราบ ภายในระยะเวลาที่ประเทศภาคีสมาชิกทั้งหลายได้ตกลงร่วมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลนั้นไว้เป็นระบบฐานข้อมูล
4. ควรกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับกรณีซึ่งอาจเป็นการพ้องเสียง หรือพ้องทั้งรูปและเสียง (homonymous) แต่คำนั้นให้ความหมายถึงแหล่งภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน แม้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะบัญญัติไว้แล้วในความตกลงทริปส์มาตรา 23 ข้อ 3 แต่บทบัญญัตินี้กำหนดให้ใช้กับสินค้าประเภทไวน์เท่านั้น ซึ่งควรครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วย โดยบัญญัติไว้ในความมาตรา 24 ข้อ 10 แทน และควรอนุญาตให้ประเทศภาคีสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชื่อที่พ้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศตน สามารถขอให้ประเทศที่ใช้ชื่อพ้องนั้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อที่ได้จดทะเบียนหรือขอจดทะเบียน โดยเพิ่มรายละเอียดถ้อยคำหรือสัญลักษณ์ให้ชัดเจนถึงแหล่งกำเนิดสินค้าที่แท้จริงด้วย
5. ควรกำหนดให้มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในความตกลงทริปส์เกี่ยวกับมาตรการยึดสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยผิดกฎหมาย ในขณะนำเข้ามาภายในประเทศภาคีสมาชิกที่มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น รวมถึงให้ยึดสินค้าภายในประเทศที่ระบุสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในประเทศที่มีกรณีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
ุ6. ควรมีการจดทะเบียนในลักษณะเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อน โดยที่บรรดาประเทศสมาชิกมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้ระยะเวลานานเพียงใดสำหรับการเตรียมกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับการจดทะเบียนพหุภาคีที่มีผลคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ครอบคลุมถึงประเทศสมาชิกทั้งหลายโดยอัตโนมัติ เพราะประเทศภาคีสมาชิกจำเป็นต้องมีการหารือเพื่อให้เกิดการประนีประนอมและการยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงและจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศตนให้สอดคล้องกับบริบทสังคมระหว่างประเทศด้วย
7. ประเทศผู้ยื่นขอจดทะเบียนควรวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับข้อดีหรือข้อเสียของการขยายตลาดสินค้าในต่างประเทศ โดยการชั่งน้ำหนักประโยชน์ของการคุ้มครองในระดับระหว่างประเทศ ทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ปฏิบัติได้จริง เพราะหากปัจจัยการผลิตยังไม่เหมาะสมที่จะขยายการผลิตเพื่อการส่งออก การจดทะเบียนเพื่อคุ้มครองในระดับระหว่างประเทศก็จะก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยอาจเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อรักษาชื่อเสียงของสินค้า ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ชุมชนผู้ผลิตต้องแบกรับก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนอาจก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินขีดความสามารถในการอนุรักษ์ |
รายละเอียดเพิ่มเติม: |
ดุษฎีนิพนธ์ (น.ด.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561 |
หัวเรื่องมาตรฐาน: | เครื่องหมายแสดงแหล่งกำเนิด -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ -- ไทย
ทรัพย์สินทางปัญญา -- ไทย |
คำสำคัญ: | e-Thesis
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความตกลงทริปส์ |
ประเภททรัพยากร: | ดุษฎีนิพนธ์ |
ความยาว: | 223 แผ่น |
ชนิดของสื่อ: | Text |
รูปแบบแฟ้มข้อมูล: | application/pdf |
ภาษา: | tha |
สิทธิในการใช้งาน: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
ผู้ครอบครองสิทธิ์: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4490 |
แฟ้มในรายการข้อมูลนี้ (CONTENT) |
|
ดู b204615.pdf ( 2,906.96 KB ) |
This item appears in the following Collection(s) |
|