ชื่อเรื่อง:
|
อุดมการณ์การเมือง (4) การยาตราสู่เส้นทางแห่งความหลากหลาย
|
ผู้แต่ง:
|
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
|
วันที่เผยแพร่:
|
2562-08-03
|
ข้อมูลอ้างอิง:
|
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 ํ วันเสาร์ที่ 3 - วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562
|
หน่วยงานที่เผยแพร่/จัดพิมพ์:
|
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 ํ
|
บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ:
|
นับตั้งแต่คำว่าอุดมการณ์ถูกประดิษฐ์และเผยแพร่สู่สาธารณะใน ค.ศ. 1796 โดย Antoine Desttute de Tracy นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ความหมายและนัยของอุดมการณ์มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แรกเริ่มเดิมที de Tracy ให้ความหมายอุดมการณ์ว่าเป็น "ศาสตร์แห่งความคิด" ซึ่งมีนัยของการศึกษาแหล่งกำเนิดของความคิดอย่างเป็นภววิสัย(สิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จริงโดยไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจ) เชิงวิทยาศาสตร์ เขาตั้งความหวังไว้ว่า อุดมการณ์จะเป็นราชินีของศาสตร์ทั้งปวง เนื่องจากทุกศาสตร์ต่างก็มีแหล่งที่มาจากความคิดนั่นเอง ทว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายหลังมิได้เป็นดังที่คาดหวังเอาไว้
Lenin ได้เขียนหนังสือ What is to Be Done หรือ อะไรที่ควรทำ ซึ่งเขาได้บรรยายความคิดของชนชั้นกรรมาชีพว่าเป็น "อุดมการณ์สังคมนิยม" หรือ "อุดมการณ์มาร์กซิสต์" ทำให้เห็นได้ว่า อุดมการณ์มีนัยถึงความคิดและความเชื่อที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงของชนชั้นทางสังคม ซึ่งความคิดและความเชื่อดังกล่าวจะตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อในสังคมมีชนชั้นดำรงอยู่หลายชนชั้น แต่ละชนชั้นก็ประดิษฐ์อุดมการณ์ขึ้นมาเพื่อรองรับความชอบธรรมของอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานะของอุดมการณ์การเมืองที่อุบัติขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมจากยุคศักดินาสู่ทุนนิยมอุตสาหกรรมแล้ว เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีอุดมการณ์หลักดั้งเดิมสามอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในสนามการเมือง นั่นคือ อุดมการณ์เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม และสังคมนิยม ทั้งสามอุดมการณ์นี้ต่างแข่งขันเพื่อสถาปนาอำนาจนำตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสังคมอุตสาหกรรม จนกระทั้งถึงปลายยุคสังคมอุตสาหกรรม เมื่อมองภาพรวมของอุดมการณ์ในสนามการเมืองแล้ว การยาตราของอุดมการณ์เริ่มต้นจากสามอุดมการณ์หลัก คือ เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม และสังคมนิยม ถัดมาตามด้วยสามอุดมการณ์รอง คือ ชาตินิยม อนาธิปไตยนิยม และฟาสซิสต์ จากนั้นสี่อุดมการณ์ใหม่ในยุคสังคมหลังอุตสาหกรรมและโลกาภิวัตน์ก็อุบัติขึ้น อันได้แก่ สตรีนิยม นิเวศนิยม รากฐานนิยมทางศาสนา และพหุวัฒนธรรมนิยม รวมความแล้วอุดมการณ์ที่โลดแล่นแข็งขันในสนามการเมืองของโลกในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดมีอย่างน้อยถึง 10 อุดมการณ์ด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นอุดมการณ์ดั้งเดิมอย่างเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม และสังคมนิยมนั้น ต่างก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลายเป็นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์นิยมใหม่และสังคมนิยมใหม่ขึ้นมาอีกด้วย
โลกของอุดมการณ์เป็นโลกของความคิด ความเชื่อ ความปรารถนา การปฏิบัติ และการจัดความสัมพันธ์เกี่ยวกับมนุษย์ การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคม หากเราทำความเข้าใจอุดมการณ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น เราก็จะเข้าถึงรากฐานความคิด เจตจำนงค์การกระทำทั้งของตนเอง กลุ่มทางสังคม พรรคการเมือง และสังคมโดยรวมมากขึ้นไปด้วย และเมื่อเข้าใจกันมากขึ้นการหาหนทางพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
|
คำสำคัญ/ศัพท์อิสระ:
|
อุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่; อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย
|
หัวเรื่องควบคุม:
|
อุดมการณ์ทางการเมือง; อุดมการณ์การเมืองที่หลากหลาย
|
ความยาว:
|
3 หน้า
|
ประเภททรัพยากร:
|
Text
|
รูปแบบแฟ้มข้อมูล:
|
application/pdf
|
ภาษา:
|
tha
|
ผู้ครอบครองสิทธิ์:
|
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 ํ
|
URI:
|
http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4517
|