ปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงมาดัดแปลงโดยวิธีการ Remix
by ธีรวัชร์ แสงไชย
Title: | ปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงมาดัดแปลงโดยวิธีการ Remix |
Other title(s): | The problem on copyright law regarding the adaptation of copyright work namely musical work and sound recording by means of remixing |
Author(s): | ธีรวัชร์ แสงไชย |
Advisor: | วริยา ล้ำเลิศ |
Degree name: | นิติศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะนิติศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงมาดัดแปลงโดยวิธีการ Remix แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียง มาตรการทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงของประเทศไทย ต่างประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์หรือจะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายหรือจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ เพียงใด ตลอดจนกำหนดแนวทางและข้อเสนอแนะทางกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นจากการ Remix งานดังกล่าวด้วย
ปัจจุบันมีผู้นำผลงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาดัดแปลงใหม่ด้วยวิธี Remix ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสนใจในผลงาน Remix เช่น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาการอ้างข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงาน Remix และปัญหาการให้ความคุ้มครองงาน Remix ในฐานะที่เป็นผลงานดัดแปลง แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558) พบว่ามิได้มีขอบเขตที่จะใช้สำหรับพิจารณาปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของผลงาน Remix ปัญหาการอ้างข้อยกเว้นมิให้ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผลงาน Remix รวมทั้งปัญหาการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผลงาน Remix อย่างชัดเจนเท่าที่ควร
จากการศึกษากฎหมายและคำพิพากษาของศาล รวมทั้งความเห็นของนักวิชาการในต่างประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลีย พบว่าแม้กลุ่มประเทศทั้งสามนี้จะมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงไว้อย่างชัดเจนแต่กลับปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลที่ได้ตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการ Remix ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ยอมรับว่าผลงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงในรูปแบบของการ Remix นี้เป็นงานดัดแปลงอย่างหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับศาลเพื่อใช้ในการพิจารณาว่าการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงระดับใดจึงจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งให้การยอมรับว่าผลงาน Remix ควรได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนประเทศอังกฤษก็ได้มีความเห็นของนักวิชาการทางกฎหมายที่ให้การยอมรับผลงาน Remix ว่าควรอยู่ในรูปแบบของงานดัดแปลงและยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีที่มีการนำงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปใช้ประกอบการ Remix ทั้งยังมีความเห็นทางวิชาการที่ให้การยอมรับว่างาน Remix อาจตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หากงาน Remix นั้นมีลักษณะเป็นการล้อเลียนงานต้นฉบับ ส่วนประเทศออสเตรเลียนั้นก็ได้มีแนวคำพิพากษาและความเห็นของนักวิชาการในทำนองเดียวกันกับประเทศอังกฤษ
โดยสรุปแล้วผู้วิจัยมีความเห็นว่าควรเสนอแนะโดยกำหนดขอบเขตเพื่อให้ศาลใช้พิจารณาคดีที่เกิดขึ้นว่าการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงในระดับใดจึงจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย นอกจากนี้ ได้เสนอแนวทางในการตีความบทบัญญัติมาตรา 32 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558) เพื่อให้ครอบคลุมถึงการ Remix งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียง โดยให้ศาลคำนึงถึงวัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้งาน รวมถึงการใช้งานดังกล่าวไม่มีลักษณะทางการค้าหรือไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อการศึกษา ลักษณะของงานที่มีลิขสิทธิ์ จำนวนและสาระสำคัญของส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่มีลิขสิทธิ์โดยรวม และผลกระทบของการใช้ประโยชน์ทางการตลาดที่อาจเกิดขึ้น หรือมูลค่าของงานที่มีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ -- โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การละเมิดลิขสิทธิ์ |
Keyword(s): | งานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียง e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 214 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Rights holder(s): | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4976 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|