การปรับใช้แนวคิดการลงโทษให้ได้สัดส่วน (Just Deserts) กับการพิจารณาความผิดที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา
by อรุณรัตน์ ธำรงศรีสุข
Title: | การปรับใช้แนวคิดการลงโทษให้ได้สัดส่วน (Just Deserts) กับการพิจารณาความผิดที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา |
Other title(s): | Implementing the just deserts concept with juvenile delinquents as offenders of sexual assault on rape |
Author(s): | อรุณรัตน์ ธำรงศรีสุข |
Advisor: | วัชรชัย จิรจินดากุล |
Degree name: | นิติศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะนิติศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
ปัจจุบันการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนในประเทศไทยมีสถิติที่สูงขึ้น จากการศึกษาพบว่า การกระทำความผิดเหล่านั้นมีลักษณะร้ายแรง ไม่ต่างจากการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งบทความนี้ศึกษาแนวคิดการลงโทษให้ได้สัดส่วน (Just Desserts) กับการพิจารณาความผิดที่เด็กและเยาชวนเป็นผู้กระทำความผิดกรณีความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา โดยผู้เขียนได้ใช้วิธีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายต่างประเทศ และกฎหมายไทย โดยผู้เขียนได้ทำการศึกษาตัวอย่างประเทศที่มีการนำทฤษฎี Just Deserts มาใช้กับเด็กและเยาวชนที่ได้กระทำความผิด วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนและจุดเด่นของการนำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาตัดสินลงโทษเด็กหรือเยาวชนที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเราสำหรับประเทศไทย และเสนอแนวทางการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศในส่วนของการข่มขืนกระทำชำเราให้มีความเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน
จากการศึกษา พบว่าแนวคิดการลงโทษเด็กและเยาวชนในประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73-75 ไม่ว่าการกระทำความผิดนั้นจะเป็นการกระทำความผิดฐานใด หรือมีเป็นการกระทำที่มีลักษณะรุนแรงเพียงใด เด็กและเยาวชนที่ได้กระทำความผิดย่อมได้รับการยกเว้นโทษหรือลดโทษอยู่เสมอ ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวนี้ ไม่ทำให้การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนลดลง อีกทั้งสถิติการกระทำความผิดยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา เนื่องจากสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ของสังคมมีความเปลี่ยนแปลง เด็กและเยาวชนในยุคสมัยนี้จึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ในต่างประเทศได้ประสบปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำความผิดทางอาญาเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการลงโทษสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้กระทำความผิดทางอาญา จากการลงโทษเด็กและเยาวชนที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู มาเป็นการนำแนวคิดการลงโทษตามทฤษฎี Just Deserts มาใช้สำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ซึ่งทฤษฎี Just Deserts คือ แนวคิดการลงโทษให้ได้สัดส่วน โดยที่การลงโทษจะต้องได้สัดส่วนระหว่างความร้ายแรงของการกระทำ (ระดับของความเสียหาย) และความชั่วหรือตำหนิได้ของผู้กระทำ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบร่วมกันในการที่จะพิจารณาโทษของผู้กระทำความผิดที่ยังเป็นเด็กหรือเยาวชน โดยพิจารณาจากอายุและฐานความผิดอาญาร้ายแรงประกอบกันเพื่อการลงโทษที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงศาลเด็กและเยาวชนในสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 1967 หรือปี พ.ศ. 2510 โดยปัจจุบันมีการใช้หลากหลายประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น และพบว่าสถิติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนในประเทศที่มีการนำทฤษฎี Just Deserts มาใช้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนมีสถิติลดลง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรนำแนวคิดการลงโทษตามทฤษฎี Just Deserts ใช้กับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราที่มีลักษณะร้ายแรงหรือเป็นเหตุฉกรรจ์เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทสังคมในปัจจุบัน
ดังนี้ ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศในส่วนของการข่มขืนกระทำชำเรา โดยให้ยกเลิกความตามมาตรา 73-75 ในส่วนของการยกเว้นโทษหรือลดโทษสำหรับความผิดที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำ โดยนำทฤษฎี Just Deserts มาเป็นแนวทางในการพิจารณาความผิด สำหรับการนำแนวคิดลงโทษตามทฤษฎี Just Deserts มาใช้ในการพิจารณากำหนดโทษเด็กและเยาวชนที่ได้กระทำความผิดในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งการลงโทษทฤษฎี Just Deserts จะไม่นำมาใช้กับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในทุกฐานความผิด และไม่นำมาใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวขนทุกคน แต่จะนำมาใช้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราที่มีลักษณะร้ายแรงหรือเป็นเหตุฉกรรจ์ เนื่องจากประเทศไทยควรมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงโทษเด็กและเยาวชนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและลดการกระทำความผิดทางอาญาที่เกิดจากเด็กและเยาวชน |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | กระบวนการกำหนดโทษคดีอาญา
กระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชน การข่มขืน |
Keyword(s): | การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน
แนวคิดการลงโทษ การลงโทษให้ได้สัดส่วน e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 139 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Rights holder(s): | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4980 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|