ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณรายจ่าย
by ปรีดิ์เกษม ปรัชญพฤทธิ์
Title: | ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณรายจ่าย |
Other title(s): | Legal issues concerning the transfer of appropriations |
Author(s): | ปรีดิ์เกษม ปรัชญพฤทธิ์ |
Advisor: | ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ |
Degree name: | นิติศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะนิติศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2018 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การโอนงบประมาณรายจ่ายเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารงบประมาณของฝ่ายบริหาร เนื่องจากเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของหน่วยรับงบประมาณเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล หรือความต้องการของประชาชน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่าการโอนงบประมาณรายจ่ายจะมีลักษณะเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเอาไว้แล้วก็ตาม แต่โดยที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นอาจมีความแตกต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ การโอนงบประมาณรายจ่ายจึงเป็นกลไกที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม การโอนงบประมาณรายจ่ายควรดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคร่งครัดเพื่อรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ
ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งศึกษาแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินและการโอนงบประมาณ การโอนงบประมาณแผ่นดินในระบบกฎหมายต่างประเทศ การโอนงบประมาณแผ่นดินในระบบกฎหมายไทย รวมถึงปัญหาและผลกระทบของการโอนงบประมาณรายจ่ายในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เพื่อนำผลการศึกษามาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การโอนงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยให้มีความเข้มงวดและลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้น จากการศึกษาพบว่าการโอนงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายมีปัญหาทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณาห้าประการ คือ ประการที่หนึ่ง ปัญหาการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายที่ขัดกับหลักการโอนงบประมาณแผ่นดินตามกฎหมาย ประการที่สอง ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบทางวินัยทางการคลังจากผลของการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การโอนงบประมาณรายจ่ายไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ตรวจสอบได้ยากและขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ประการที่สาม ปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านระยะเวลาของพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เนื่องจากการกำหนดให้มีระยะเวลาในการผูกพันงบประมาณเป็นเงื่อนไขสำคัญในการโอนงบประมาณ ประการที่สี่ ปัญหาด้านการควบคุมตรวจสอบการโอนงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย ได้แก่ การขาดเงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมายที่เคร่งครัดในการโอนงบประมาณและข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบการโอนงบประมาณรายจ่ายของฝ่ายนิติบัญญัติ และประการที่ห้า ปัญหาเกี่ยวกับการโอนงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 โดยกำหนดห้ามมิให้มีการโอนงบประมาณไปตั้งจ่ายเป็นงบกลางเป็นข้อยกเว้นเอาไว้อย่างชัดเจน 2) การกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาการอนุมัติและการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 3) การเปลี่ยนหลักการและเหตุผลของการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายโดยไม่นำเงื่อนไขทางด้านระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องและการปฏิทินการจัดทำพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายควรอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน 4) การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยให้การกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนงบประมาณรายจ่ายเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ และการปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มบทบาทของคณะกรรมาธิการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และ 5) การตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำงบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อลดข้อผิดพลาดในการบริหารงานและการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 โดยกำหนดให้การโอนงบประมาณรายจ่ายภายในแผนงานบูรณาการเดียวกันเป็นข้อยกเว้นที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ เพื่อให้พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับหลักการโอนงบประมาณแผ่นดินตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ขอบเขตและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เหมาะสม อันจะส่งผลให้การโอนงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารประเทศอย่างแท้จริง |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561 |
Subject(s): | งบประมาณ -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ -- ไทย
รายจ่ายของรัฐ -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ -- ไทย |
Keyword(s): | งบประมาณแผ่นดิน
การโอนงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 227 แผ่น |
Type: | Thesis |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Rights holder(s): | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4981 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View b207949.pdf ( 5,035.54 KB ) |
This item appears in the following Collection(s) |
|
|