การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนในตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
by เมธาวี บุหงาเรือง
Title: | การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนในตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
Other title(s): | Ecotourism development for the community in Singhanat Subdistrict, Lat Bua Luang District, Phra Nakhon Si Ayutthaya Province |
Author(s): | เมธาวี บุหงาเรือง |
Advisor: | วิสาขา ภู่จินดา |
Degree name: | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การจัดการสิ่งแวดล้อม |
Degree department: | คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนและความต้องการของนักท่องเที่ยวในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลสิงหนาท เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนสิงหนาท โดยทำการสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนาท คือ นายก ปลัด และผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ ตัวแทนจากกลุ่มกิจกรรมทั้ง 5 กลุ่ม คือ กลุ่มล่องเรือ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มโซลาร์เซลล์ และกลุ่มปศุสัตว์ รวมทั้งสิ้น 10 คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณนาความและจับกลุ่มประเด็น และการสอบถามนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 100 คน ต่อความต้องการในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา ทำการออกแบบการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประยุกต์ใช้ในรูปแบบของการวิเคราะห์มูลค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารได้มีแนวนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชุมชนมีอัตลักษณ์ เช่น เกษตรปลอดภัย โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผู้นำชุมชนมีแนวคิดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการท่องเที่ยว โดย กลุ่มล่องเรือ มีแนวคิดที่จะนำเรือพายที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วมาใช้ในการท่องเที่ยวและปรับพื้นที่สองฝั่งคลองให้เป็นตลาดน้ำ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ นำเครื่องมือที่ใช้ในการทำเกษตรตั้งแต่อดีตมาจัดแสดง กลุ่มเกษตรกรรม นำผลผลิตทางการเกษตรที่มีจุดเด่นในเรื่องของผักปลอดภัยมาจัดจำหน่าย กลุ่มโซลาร์เซลล์ จะมีการแสดงนิทรรศการพลังงานทดแทน เช่น โครงการพลังงานทดแทนชุมชน โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ และกลุ่มปศุสัตว์ มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ให้อาหารแพะและป้อนนมลูกแพะ เป็นต้น สำหรับการสอบถามความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มตัวอย่างมีความต้องการมากที่สุดคือ ด้านการคมนาคม รองลงมาคือ ด้านกิจกรรม ด้านสินค้าและบริการ ด้านธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านความปลอดภัย ตามลำดับ โดยกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการมากที่สุดคือ กิจกรรมเกษตรกรรม รองลงมาคือ กิจกรรมพิพิธภัณฑ์ กิจกรรมปศุสัตว์ กิจกรรมล่องเรือ และกิจกรรมโซลาร์เซลล์ ตามลำดับ
การศึกษานี้ได้ประยุกต์ใช้หลักอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและชุมชนเชิงนิเวศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนออกแบบการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน โดยกลุ่มโซลาร์เซลล์จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำให้กับทั้งชุมชน กลุ่มล่องเรือจะให้กลุ่มเกษตรกรรมและกลุ่มปศุสัตว์นำสินค้ามาจำหน่ายบริเวณตลาดน้ำ กลุ่มเกษตรกรรมมีการนำเศษผักที่นอกเหนือจากการนำไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อใช้กันเองภายในกลุ่มส่งต่อให้กับกลุ่มปศุสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ สำหรับกลุ่มปศุสัตว์มีการนำมูลแพะส่วนหนึ่งนอกเหนือจากส่วนที่ขายส่งต่อไปให้กับกลุ่มเกษตรกรรมเพื่อนำไปหมักเป็นปุ๋ยคอก ในส่วนของกลุ่มพิพิธภัณฑ์จะให้พื้นที่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์สำหรับการนำสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรรมและปศุสัตว์มาจัดจำหน่าย และมีการนำความต้องการของนักท่องเที่ยวมาเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมการท่องเที่ยวของสิงหนาท เช่น การนำผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรรมและกลุ่มปศุสัตว์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารเพื่อจัดทำเป็นร้านอาหารท้องถิ่น จากการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน กลุ่มกิจกรรมที่มีค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มล่องเรือ มีมูลค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนคือ 2.40 รองลงมาคือ กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มพิพิธภัณฑ์ และกลุ่มโซลาร์เซลล์ โดยมีมูลค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนคือ 2.19, 1.66, 1.60 และ 1.25 ตามลำดับ |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การจัดการสิ่งแวดล้อม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ -- ไทย -- พระนครศรีอยุธยา -- ลาดบัวหลวง -- สิงหนาท การท่องเที่ยวโดยชุมชน -- ไทย -- พระนครศรีอยุธยา -- ลาดบัวหลวง -- สิงหนาท |
Keyword(s): | e-Thesis
ศักยภาพของชุมชน อบต.สิงหนาท |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 165 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5001 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|