อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร
by ชุติมาภรณ์ ค้าขาย
ชื่อเรื่อง: | อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร |
ชื่อเรื่องอื่นๆ: | The influence of online social media on deviant juvennile behavior in Bangkok |
ผู้แต่ง: | ชุติมาภรณ์ ค้าขาย |
ผู้ควบคุมงานวิจัย: | ประพนธ์ สหพัฒนา |
ชื่อปริญญา: | รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต |
ระดับปริญญา: | Master's |
คณะ/หน่วยงาน: | คณะรัฐประศาสนศาสตร์ |
หน่วยงานที่ประสาทปริญญา: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
วันที่เผยแพร่: | 2561 |
หน่วยงานที่เผยแพร่: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ: |
การศึกษาอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชน ในเขตกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์การวิจัยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชน 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชนแต่ละพฤติกรรม
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ประชากรที่ใช้ในการศึกษา จากการสุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน จากโรงเรียน 14 โรงเรียน ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi – State Sampling) การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) และการสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) สถิติที่ใช้ในการศึกษาวิจัย 1) สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) 2) สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) วิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) วิเคราะห์ตัวแปรหุ่น (Dummy Analysis) และวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกส์ (Logistic Regression)
จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนมากที่สุด คือ แรงดึงดูดให้กระทำความผิด ระยะเวลาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แรงขัดขวางภายนอก และความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า แรงดึงดูดให้กระทำผิด ระยะเวลาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีทิศทางบวกกับพฤติกรรมเบี่ยงเบน นั่นคือ เมื่อเด็กและเยาวชนใช้สื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้งต่อหนึ่งวัน มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเวลานานต่อหนึ่งวัน และมีแรงดึงดูดให้กระทำผิดสูง จะทำให้มีโอกาสเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนสูงตามไปด้วย ในขณะที่แรงขัดขวางภายนอกมีทิศทางเป็นลบกับพฤติกรรมเบี่ยงเบน นั่นคือ ถ้าเด็กและเยาวชนมีแรงขัดขวางภายนอกต่ำจะทำให้มีโอกาสเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนสูงขึ้น
นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ตัวแปรหุ่น (Dummy Analysis) ด้วยประเภทของสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Facebook Line และ YouTube ต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน โดยใช้ YouTube เป็นตัวเปรียบเทียบ พบว่า Facebook มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบน เมื่อมีการใช้ Facebook และ YouTube ในระดับเท่ากันผู้ที่ใช้ Facebook จะมีโอกาสเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้มากกว่า YouTube 0.32 ครั้ง
จากการวิเคราะห์อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนแต่ละพฤติกรรม พบว่า ความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนและการดื่มสุรา ระยะเวลาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน การหนีเรียน ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ ประเภทของสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน การดื่มสุรา และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แรงดึงดูดให้กระทำความผิดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบน การหนีเรียน การดื่มสุรา และสูบบุหรี่ แรงผลักให้กระทำความผิดมีอิทธิพลต่อการหนีเรียน และแรงขัดขวางภายนอกมีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนในทิศทางลบ สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อเด็กและเยาวชนมีแรงขัดขวางภายนอกต่ำจะทำให้มีโอกาสเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนสูงขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าแรงขัดขวางภายนอกมีอิทธิพลในการยับยั้งการพฤติกรรมเบี่ยงเบน
จากผลการวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขหรือป้องกันการเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชน โดยหัวใจสำคัญในการยับยั้งพฤติกรรมเบี่ยงเบน ได้จากแรงขัดขวางภายนอก ซึ่งได้แก่ ความรักความอบอุ่นจากสถาบันครอบครัว กลุ่มเพื่อน ผนวกกับการมีจริยธรรมในตนเอง การประพฤติปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ในสังคม บทบาทของสถาบันครอบครัวควรมีความเอาใจใส่แก่ทุกคนในครอบครัว บทบาทของหน่วยงานภาครัฐควรมีการออกกฎหมายควบคุมสื่อและโฆษณาที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ให้ทันต่อเหตุการณ์ บทบาทของสื่อมวลชนตระหนักถึงการสร้างสื่อที่ดี มีจรรญาบรรณสื่อ บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ บทบาทของผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตควรจำกัดอายุผู้ให้บริการตามเนื้อหาและความเหมาะสม |
รายละเอียดเพิ่มเติม: |
วิทยานิพนธ์ (รป.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561 |
หัวเรื่องมาตรฐาน: | สื่อสังคมออนไลน์
พฤติกรรมเบี่ยงเบน เด็ก เยาวชน |
คำสำคัญ: | e-Thesis |
ประเภททรัพยากร: | วิทยานิพนธ์ |
ความยาว: | 117 แผ่น |
ชนิดของสื่อ: | Text |
รูปแบบแฟ้มข้อมูล: | application/pdf |
ภาษา: | tha |
สิทธิในการใช้งาน: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5040 |
แฟ้มในรายการข้อมูลนี้ (CONTENT) |
|
ดู ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|