การวิเคราะห์ลักษณะระยะยาวของมลพิษอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
by ศุภนันท์ จิรโสภณ
Title: | การวิเคราะห์ลักษณะระยะยาวของมลพิษอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร |
Other title(s): | Long-term characteristic of air pollution in Bangkok |
Author(s): | ศุภนันท์ จิรโสภณ |
Advisor: | ภัคพงศ์ พจนารถ |
Degree name: | วิทยาศาตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การจัดการสิ่งแวดล้อม |
Degree department: | คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2020 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การศึกษาลักษณะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ชุมชน (Residential Area) ภายในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) อาศัยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบกึ่งถาวรของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 สถานี ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2559 โดยศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงระยะยาว และลักษณะของมลพิษในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนอัตราส่วนความสัมพันธ์ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 และ 10 ไมโครเมตร
ลักษณะของมลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในรอบวัน รอบสัปดาห์ และรอบปีที่แตกต่างกัน โดยในรอบ 1 วัน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ มีช่วงเวลาที่มลพิษสูง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้าและหัวค่ำของวัน ในขณะที่ก๊าซโอโซนนั้น มีช่วงเวลาที่มลพิษเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงบ่ายของวัน ในขณะที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตรนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสถานีตรวจวัด ส่วนการเปลี่ยนแปลงในรอบสัปดาห์ของก๊าซมลพิษต่าง ๆ มักมีค่าสูงในวันธรรมดาและลดต่ำลงในวันเสาร์อาทิตย์ ยกเว้นก๊าซโอโซนที่มีค่าสูงในวันเสาร์อาทิตย์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากแหล่งกำเนิดของมลพิษที่แตกต่างกัน ในขณะที่ลักษณะของมลพิษในรอบปี จะมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของมลพิษ โดยส่วนมากจะมีค่าสูงในฤดูแล้งและลดลงในฤดูฝน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลักษณะของมลพิษต่าง ๆ แยกรายปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2559 พบว่า แนวโน้มของมลพิษแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันออกไป โดยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร มีแนวโน้มลดลงเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และโอโซน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลดลง ไปจนถึงไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับจุดตรวจวัดในระยะเวลา 10 ปีที่ศึกษา โดยภาพรวมมลพิษแต่ละชนิดที่ตรวจวัดได้จากแต่ละสถานีตรวจวัดมีลักษณะที่แตกต่างกัน และจากการเปรียบเทียบลำดับของปริมาณค่าเฉลี่ยมลพิษในแต่ละสถานีตรวจวัด พบว่า มลพิษที่มีค่าสูงต่ำในแต่ละสถานีนั้นมีลำดับที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมรอบสถานีตรวจวัดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตำแหน่งของสถานีตรวจวัดที่มีค่าเฉลี่ยมลพิษสูงสุดและต่ำสุด 3 อันดับ พบว่า ส่วนใหญ่มลพิษจะมีค่าสูง ณ สถานีตรวจวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางไปจนถึงฝั่งตะวันออกของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยกเว้นก๊าซโอโซน ที่สถานีตรวจวัดบริเวณตอนกลางของพื้นที่มีค่าต่ำกว่าสถานีโดยรอบ
นอกจากนี้ จากการศึกษาลักษณะของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 และ 10 ไมโครเมตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสถานีตรวจวัด 3 แห่งที่มีการตรวจวัดฝุ่นละอองทั้ง 2 ประเภท พบว่า อัตราส่วนของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตรต่อ 10 ไมโครเมตร มีค่า 0.6097 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของสถานีตรวจวัดริมถนนจำนวน 2 แห่งที่มีการตรวจวัดฝุ่นละอองทั้ง 2 ประเภท พบว่าอัตราส่วนดังกล่าวมีค่าใกล้เคียงกัน จึงเป็นไปได้ว่าฝุ่นละอองจากสถานีตรวจวัดในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่ริมถนนนี้อาจมาจากแหล่งกำเนิดที่คล้ายคลึงกัน และเมื่อพิจารณาอัตราส่วนความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นละอองทั้ง 2 ประเภท พบว่า อัตราส่วนในฤดูฝนจะมีค่าต่ำกว่าฤดูแล้ง เนื่องมาจากแหล่งกำเนิดและอิทธิพลของปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การจัดการสิ่งแวดล้อม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2563 |
Subject(s): | มลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศ -- ไทย -- กรุงเทพฯ |
Keyword(s): | e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 192 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5108 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|