การใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
by ธนกฤต ลาภธนโรจน์
ชื่อเรื่อง: | การใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง |
ชื่อเรื่องอื่นๆ: | Land use and area management in Ko Samet, Rayong |
ผู้แต่ง: | ธนกฤต ลาภธนโรจน์ |
ผู้ควบคุมงานวิจัย: | วิชชุดา สร้างเอี่ย |
ชื่อปริญญา: | วิทยาศาตรมหาบัณฑิต |
ระดับปริญญา: | Master's |
สาขาวิชา: | การจัดการสิ่งแวดล้อม |
คณะ/หน่วยงาน: | คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
หน่วยงานที่ประสาทปริญญา: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
วันที่เผยแพร่: | 2562 |
หน่วยงานที่เผยแพร่: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ: |
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ในเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเกาะเสม็ดและวิเคราะห์ปัญหาการจัดการพื้นที่ในเกาะเสม็ด โดยเน้นการวิจัยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ในเชิงพื้นที่และเชิงเวลา คือพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือและเส้นทางสัญจรหลักในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2560 การวิจัยนี้อาศัยแนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการสังเกตการณ์ การศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ปัญหาและสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะแนวทางด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ในเกาะเสม็ด
ผลการวิจัยพบว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ของพื้นที่ศึกษาในเกาะเสม็ดมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ศึกษา มีการแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเภทที่ดินต่าง ๆ คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งเขตการจัดการพื้นที่ประกอบด้วย เขตบริการ เขตใช้ประโยชน์ทั่วไปที่รวมพื้นที่กันออกและเขตสงวนสภาพธรรมชาติ แม้จะมีการจัดการพื้นที่ดังกล่าว การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศึกษาในเกาะเสม็ดนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการพัฒนาของพื้นที่และเหตุการณ์เฉพาะที่ปรากฏชัดเจนแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา กล่าวคือ ในช่วงยุคเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 – 2557 ที่มีการตรวจสอบสิทธิ์ผู้ถือครอง ผู้เช่าและผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จากเดิมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและที่พักเล็ก ๆ จำนวนไม่มาก การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวได้มีการขยายตัวมากขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 ซึ่งเห็นถึงการบุกรุกและการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติเกินจากขอบเขตตามสัญญาเช่าที่เพื่อเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมต่าง ๆ โรงแรมที่พัก ที่อยู่อาศัยและร้านค้าทั่วไปกลายเป็นแนวสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นมากมายและหนาแน่นตามเส้นทางสัญจรหลักในเกาะเสม็ด การรบกวนหรือทำลายพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ป่าของเกาะเสม็ดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่มากที่สุด คือ การกระจายแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นหย่อม ๆ เพื่อการสนองตอบความต้องการของประชาชนจากการเป็นที่อยู่อาศัย สู่การเกษตร และการท่องเที่ยว โดยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเวลาอยู่ตลอดต่อเนื่อง
การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินและบริบทการพัฒนาของพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงกับความล้มเหลวในการจัดการพื้นที่ในอดีตสะท้อนให้เห็นปัญหาความทับซ้อนของกฎหมายในการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การบริหารจัดการแบบแยกส่วนของภาครัฐโดยยึดเอากฎหมายของแต่ละหน่วยงานเป็นข้อกำหนด นอกจากนี้ ยังสะท้อนปัญหาความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ตอบสนองการท่องเที่ยวซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ศึกษา
จากข้อค้นพบในการศึกษาข้างต้น ผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ ตลอดจนการสร้างความตระหนักรับผิดชอบให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเกาะเสม็ด เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายโดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และการจัดทำแผนผังการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมก่อนการกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบการจัดการพื้นที่อย่างชัดเจน สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป ประกอบด้วย การวิเคราะห์ประเด็นของปัญหาการจัดการพื้นที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลที่ก่อเกิดความทับซ้อนของกฎหมายและความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะเช่นเดียวกับกรณีเกาะเสม็ด โดยมีการพิจารณาทั้งศักยภาพของพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการกำหนดการใช้ที่ดินในประเภทต่าง ๆ รวมถึงความสอดคล้องกับนโยบายและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการพื้นที่เฉพาะ เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานและความต้องการของประชาชนเกาะเสม็ดที่มีร่วมกันในมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคมและมิติทางสิ่งแวดล้อม |
รายละเอียดเพิ่มเติม: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การจัดการสิ่งแวดล้อม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
หัวเรื่องมาตรฐาน: | ที่ดิน -- ไทย -- ระยอง -- เกาะเสม็ด |
คำสำคัญ: | e-Thesis
การใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการพื้นที่ |
ประเภททรัพยากร: | วิทยานิพนธ์ |
ความยาว: | 114 แผ่น |
ชนิดของสื่อ: | Text |
รูปแบบแฟ้มข้อมูล: | application/pdf |
ภาษา: | tha |
สิทธิในการใช้งาน: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5116 |
แฟ้มในรายการข้อมูลนี้ (CONTENT) |
|
ดู ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|