มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดการใช้สารให้ความหวานในอาหารและเครื่องดื่ม
by อิศราภัทร์ พชรธนา
Title: | มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดการใช้สารให้ความหวานในอาหารและเครื่องดื่ม |
Other title(s): | The legal measure for determination of the sweetener usage in food and beverage |
Author(s): | อิศราภัทร์ พชรธนา |
Advisor: | วริยา ล้ำเลิศ |
Degree name: | นิติศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะนิติศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2020 |
Digital Object Identifier (DOI): | 10.14457/NIDA.the.2020.99 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา การใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ว่าด้วยฉลากอาหารและโฆษณา โดยวิเคราะห์ถึงปัญหาในการใช้กฎหมาย ว่ามีบทบัญญัติที่ครอบคลุมไปถึงการกำหนดปริมาณน้ำตาลในอาหารที่เหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งรูปแบบของฉลากมีความชัดเจนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเพียงไร และบทบัญญัติด้านโฆษณาครอบคลุมต่อกลุ่มเด็กอย่างไร อีกทั้งศึกษาว่ามีมาตรการอื่นที่ใช้ผลักดันให้เกิดการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารอย่างไร
จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือบทบัญญัติที่ครอบคลุมไปถึงการกำหนดปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ อีกทั้งรูปแบบฉลากโภชนาการที่มีสีเดียว (Monochrome Color) เป็นรูปแบบที่เข้าใจยาก เพราะเป็นการให้ข้อมูลปริมาณสารอาหาร (Informative Scheme) แต่ไม่ได้ช่วยในการตีความ (Interpretative Scheme) ซึ่งผู้บริโภคจะต้องมีความรู้ด้านโภชนาการพอสมควรจึงจะสามารถเข้าใจได้ถูกต้องและใช้ประโยชน์จากฉลากโภชนาการได้ดี ถึงแม้การให้ความรู้จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยเรายังมีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ไม่สามารถให้ความรู้แก่ผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และบทบัญญัติด้านโฆษณาก็ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งการโฆษณาอาหารในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเป็นโฆษณาไม่เหมาะสมต่อสุขภาพ เนื้อหาไม่ได้มุ่งเน้นให้ความรู้ทางโภชนาการ ส่วนมาตรการอื่นที่ใช้ผลักดันให้มีการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารนั้นมีการใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ และมีการจัดเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลตามปริมาณความหวาน ผลการศึกษาพบว่าการรับรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับภาษีเครื่องดื่มไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อให้ลดลงได้ ซึ่งจากการศึกษากฎหมายต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า ล้วนแล้วแต่ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพไว้บนฉลาก อีกทั้งรูปแบบของฉลาก Guideline Daily Amounts (GDA) ที่พบในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มสหภาพยุโรปล้วนแล้วเป็นแบบมีสีเดียว (Monochrome Color) เหมือนอย่างของไทยทำให้ยากต่อการเข้าใจฉลากแต่เมื่อศึกษาแยกลึกลงไปในประเทศที่เป็นสมาชิกในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ใช้ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light Food Labels) ประเทศฝรั่งเศส ติดฉลากสัญญาณไฟจราจรอาหาร Nutri-Score มีการแสดงคุณค่าทางโภชนาการไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร มีการแยกสีอย่างชัดเจนซึ่งสัญลักษณ์ หรือ ภาพ ทำให้สมองจำและนึกได้ไว ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอาหารที่เหมาะสมแก่การบริโภคได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาคิดเพื่อประเมินคุณค่าทางโภชนาการด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ด้านโภชนาการและทักษะการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ผู้บริโภคปฏิบัติตามแล้ว สามารถลดอันตรายและโรคจากอาหารและเครื่องดื่มได้ ส่วนการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มพบว่า สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภคทางรายการโทรทัศน์กลุ่มที่มุ่งเจาะจงเด็ก มีการควบคุมด้วยการส่งเสริมให้ทานอาหารได้อย่างสมดุลไม่เกินเกณฑ์โภชนาการ มีการจำกัดช่วงเวลาการโฆษณาทางโทรทัศน์ในรายการเด็ก ในส่วนมาตรการอื่นที่ใช้ผลักดันให้มีการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหาร ทั้งสามกลุ่มประเทศที่ศึกษา ต่างมีมาตรการอื่นที่ใช้ที่ชัดเจนของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ดี ปัญหาจากบทบัญญัติของกฎหมายไม่ครอบคลุมไปถึงการจำกัดปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม (ไม่เกินเกณฑ์โภชนาการ) ในการผลิตหรือจำหน่ายอาหาร ผู้เขียนจึงเสนอแนะ แก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 5 การขึ้นทะเบียนและการโฆษณาเกี่ยวกับอาหารโดยบัญญัติเป็นกฎหมายเพิ่มเติม เป็น มาตรา 43/1 เพื่อพิทักษ์ประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้นำเข้าอาหาร ต้องไม่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า อาหารที่เติมสารให้ความหวาน เกินเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการ
ปัญหาจากรูปแบบของฉลากเข้าใจยาก ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างถูกต้อง ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้ นำรูปแบบการทำฉลากแบบ Visual Control (การควบคุมด้วยการมองเห็น) ซึ่งเป็นรูปแบบกฎหมายฝรั่งเศสมาเป็น Model โดยแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 394) พ.ศ. 2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในข้อ 2 การแสดงฉลากอาหาร … และเพิ่มเป็นว่า (2.1) ให้ติดฉลากสัญญาณไฟจราจรอาหาร Nutri-Score โดยกำหนดให้มีการแสดงคุณค่าทางโภชนาการไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ โดยกำกับด้วยตัวอักษร A ถึง E เพื่อแสดงคุณค่าทางโภชนาการอาหารจากมากสุดไปถึงน้อยสุด
การไม่มีบทกำหนดในการคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะ ให้จัดทำหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหารสำหรับเด็ก ขึ้นมาใหม่ โดย ร่างเป็น ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหารสำหรับเด็ก พ.ศ. ….โดยมีเนื้อหาหลักๆ กล่าวคือ1)มีการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมต่อเด็ก 2) เนื้อหาโฆษณา มุ่งเน้นให้ความรู้ทางโภชนาการ ต้องไม่สนับสนุนให้บริโภคมากเกินไป และห้ามเป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูง อีกทั้งต้องไม่โน้มน้าวชักจูงให้ซื้อสินค้า 3) กำหนดรูปแบบหรือวิธีการในการโฆษณา มีการกำหนดประเภทอาหารที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โฆษณาโดยการจำแนกประเภทรายการ อีกทั้งห้ามใช้ฉากหรือเทคนิคพิเศษ การใช้คนดังหรือมีชื่อเสียง 4) การจำกัดเวลาและช่วงเวลาในการโฆษณา ที่เป็นผลดีต่อเด็กมากที่สุดโดยการจำกัดการออกอากาศของโฆษณา ที่ไม่เหมาะสมในช่วงรายการสำหรับเด็กอายุ 0-8 ปี (Ex Kids) เวลาโฆษณา ไม่เกิน 7 นาทีต่อชั่วโมงซึ่งเป็นเวลาที่น้อยที่สุด โดยใช้รูปแบบกฎหมายสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอังกฤษ เป็นแนวทาง |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2563 |
Subject(s): | สารให้ความหวาน |
Keyword(s): | e-Thesis
มาตรการทางกฎหมาย |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 208 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5599 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|