การกำหนดเขตเศรษฐกิจไม้สักในประเทศไทย
by ปัญญาพร สำเร็จเฟื่องฟู
Title: | การกำหนดเขตเศรษฐกิจไม้สักในประเทศไทย |
Other title(s): | Economic zoning for teak plantation in Thailand |
Author(s): | ปัญญาพร สำเร็จเฟื่องฟู |
Advisor: | อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา |
Degree name: | เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ |
Degree department: | คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2020 |
Digital Object Identifier (DOI): | 10.14457/NIDA.the.2020.48 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์กำหนดเขตเศรษฐกิจไม้สักในประเทศไทย และแนวทางในการเลือกรูปแบบปลูกสัก โดยการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการปลูกสักรายจังหวัด แต่ละรูปแบบในประเทศไทย ด้วยวิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน (Cost-Benefit Analysis) กำหนดระยะเวลาของการวิเคราะห์เท่ากับ 20 ปี (ปีฐาน 2562) และอัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 3 และตัวชี้วัด คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (BCR) และอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) และวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบการปลูกสักเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1)การปลูกสักเชิงเดี่ยว 2)การปลูกสักร่วมกับกระถินณรงค์ในลักษณะไม้ 2 ชั้น และ 3)การปลูกสักในลักษณะบ้านสวน การแบ่งแยกรูปแบบของการปลูกสักเพื่อแสดงให้เห็น การสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบปัญหาว่า เกษตรกรจังหวัดใดบ้างสามารถปลูกสักแล้วได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ รัฐควรพิจารณาส่งเสริมการปลูกสักในพื้นที่ใดบ้าง
การศึกษาความคุ้มค่าทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ในการปลูกสัก เพื่อนำไปสู่การกำหนดเขตเศรษฐกิจไม้สักให้ความสำคัญด้านความแตกต่างของแต่ละจังหวัดในด้าน ศักยภาพของพื้นที่ มูลค่าที่ดิน และระยะทางขนส่ง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มจังหวัดในเขตเศรษฐกิจไม้สักเหมาะสมมาก ได้แก่ กาญจนบุรี อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน น่าน และพะเยา กลุ่มจังหวัดในเขตเศรษฐกิจไม้สักเหมาะสมปานกลาง ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี อ่างทอง ชัยนาท สระเเก้ว ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ จันทบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ระยอง เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์ และชัยภูมิ กลุ่มจังหวัดในเขตเศรษฐกิจไม้สักเหมาะสมน้อย ได้แก่ นครปฐม สุรินทร์ ขอนแก่น ยโสธร กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ ชุมพร เลย มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ตราด มุกดาหาร อุบลราชธานี อุดรธานี สมุทรสงคราม สกลนคร ระนอง หนองคาย สมุทรสาคร นครพนม สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา บึงกาฬ พัทลุง ปทุมธานี ยะลา ปัตตานี กระบี่ นราธิวาส สตูล และชลบุรี
นักลงทุนและเกษตรกรที่อยู่ในเขตจังหวัดกลุ่มเขตเศรษฐกิจเหมาะสมมาก สามารถพิจารณาลงทุนปลูกสักตามรูปแบบที่เหมาะสมกับลักษณะของตนเอง การเลือกรูปแบบการปลูกสักขึ้นอยู่กับสภาพคล่องทางการเงินเป็นหลัก หากผู้ลงทุนปลูกสักมีความต้องการใช้เงินจากพื้นที่ปลูกสักเป็นแหล่งรายได้หลักก็จำเป็นต้องเลือกปลูกสักในลักษณะบ้านสวนเพื่อเป็นแหล่งอาหารและมีรายรับตลอดปี แต่หากผู้ลงทุนปลูกสักมีงานประจำและไม่เร่งร้อนที่จะใช้เงิน อาจพิจารณาถึงระยะเวลาและคนดูแลในการดูแลและจัดการ ซึ่งหากมีการสำรวจความต้องการไม้ระยะสั้นในพื้นที่และมีแหล่งรับซื้อไม้ระยะสั้นและพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ผู้ลงทุนปลูกสักอาจใช้การปลูกแบบผสมผสานลักษณะบ้านสวน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่หากไม่มีแหล่งรับซื้อไม้ระยะสั้นหรือพืชสมุนไพรอาจพิจารณาเป็นการปลูกสักเชิงเดี่ยว ซึ่งการปลูกสักแบบผสมผสานลักษณะไม้ 2 ชั้นกับการปลูกสักเชิงเดียวให้ผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ในการปลูกสัก การทราบถึงกลุ่มจังหวัดที่มีความเหมาะสมมากในการปลูกสักจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและที่สำคัญคือทำให้รัฐบาลกำหนดเขตเศรษฐกิจไม้สักได้ ซึ่งจะนำมาสู่การให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงข่ายการตลาด ระบบรับรองแหล่งที่มาของไม้สัก การบริการขนส่ง และความสะดวกด้านกฎหมาย เป็นต้น |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศ.ม. (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2563 |
Subject(s): | ไม้สัก
Teak |
Keyword(s): | เขตเศรษฐกิจไม้สัก
ต้นทุนและผลตอบแทนในการปลูกสัก e-Thesis ความคุ้มค่าในการปลูกสัก |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Type: | Text |
File type: | 138 แผ่น application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5636 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|