NIDA Wisdom Repository

 

Communities in DSpace

Select a community to browse its collections.

Now showing 1 - 6 of 6
Thumbnail Image

คณะและวิทยาลัย

NIDA Schools and Colleges

Thumbnail Image

สำนักงานอธิการบดี

NIDA Office of the President

Thumbnail Image

ผลงานวิชาการ

NIDA Scholars

Thumbnail Image

หน่วยงาน

NIDA Units

Thumbnail Image

วารสารวิชาการ

NIDA Academic Journals

Thumbnail Image

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์

NIDA E-Books

Recent Submissions

Item
ปัจจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษา โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ปิณฑิรา เดชเดชะ; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และกลยุทธ์เชิงนโยบาย โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมการวิจัยใช้ระเบียบวิธีเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บริหาร พนักงาน และพนักงานผู้ช่วย จำนวน 109 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือหลัก และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และการวิเคราะห์สมการถดถอยผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ อายุการทำงาน ระดับการศึกษา และสถานภาพการทำงาน มีผลต่อการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในหลากหลายมิติ ขณะที่เพศไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุงานมากหรืออยู่ในระดับบริหารมีความเข้าใจและมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานตามหลักการของอุตสาหกรรมสีเขียวมากกว่ากลุ่มอื่นจากผลการวิจัยเสนอให้มีการสื่อสารนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับกลุ่มพนักงานในระดับต่าง ๆ ส่งเสริมการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ออกแบบแนวทางการประยุกต์ใช้ที่สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรม และเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวระดับสูงสุดอย่างแท้จริง
Thumbnail Image
Item
การประเมินพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ศศิมา มีสิริมณีกาญจน์; ฆริกา คันธา (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปริมาณมลพิษของภาระอินทรีย์ (BOD Loading) จากแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำทั้งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน (Point Source) ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม (ประเภทที่ 3) ฟาร์มสุกร อาคารบางประเภทและบางขนาด (อาคารขนาดใหญ่) บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำทั้งที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน (Non-Point Source) ได้แก่ ชุมชน พื้นที่นาข้าว และพื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้นในจังหวัดสมุทรสงคราม รวมถึงการประเมินพื้นที่เสี่ยงด้านมลพิษทางน้ำ โดยนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับวิธีการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ (Potential Surface Analysis: PSA) ในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง BOD Loading กับคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองเพื่อเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการมลพิษทางน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพน้ำแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2567 โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ “พอใช้” (ค่าดัชนีคุณภาพน้ำ WQI อยู่ระหว่าง 66 – 70) โดยบริเวณจุดตรวจวัดปากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม (MK01) มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และบริเวณจุดตรวจวัดสะพานสมเด็จพระอัมรินทร์ อำเภอบางคนที (MK04) มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับการประเมินศักยภาพพื้นที่รองรับด้านมลพิษทางน้ำของจังหวัดสมุทรสงคราม พบมีปริมาณมลพิษของภาระอินทรีย์ (BOD Loading) ทั้งหมด 3,852,731.70 กิโลกรัมต่อปี โดยแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.16 รองลงมาแหล่งกำเนิดประเภทชุมชน คิดเป็นร้อยละ 31.4 พื้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 4.98 บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คิดเป็นร้อยละ 2.26 อาคารบางประเภทและบางขนาด คิดเป็นร้อยละ 1.64 ฟาร์มสุกร คิดเป็นร้อยละ 0.53 พื้นที่นาข้าว คิดเป็นร้อยละ 0.40 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 0.09 ตามลำดับ และหากพิจารณาเชิงพื้นที่ พบว่าพื้นที่ความเสี่ยงด้านมลพิษทางน้ำมาก ได้แก่ ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา ตำบลลาดใหญ่ ตำบลบ้านปรก ตำบลแม่กลอง ตำบลบางแก้ว และตำบลบางขันแตก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ตามลำดับ ซึ่งล้วนตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลองและคลองสาขา จากผลการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการมลพิษทางน้ำในระดับจังหวัด ทั้งในด้านการควบคุมแหล่งกำเนิด การจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เสี่ยง และการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชนในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำอย่างยั่งยืน The study focused on the loads of biochemical oxygen demand (BOD Loading) from both point sources and non-point sources of water pollution in Samut Songkhram Province. The point sources include industrial factories (category 3), swine farms, large buildings, aquaculture ponds, and fuel stations. Non-point sources include communities, rice paddies and areas of fruit trees and perennial crops. The study also evaluates water pollution risk areas using Geographic Information System (GIS) combined with Potential Surface Analysis (PSA) for spatial analysis. Additionally, the research investigates the relationship between BOD Loading and the water quality of the Mae Klong River to propose systematic and sustainable water pollution management strategies. The study found that the water quality of the Mae Klong River in Samut Songkhram Province during 2020–2024 was generally rated as “fair,” with Water Quality Index (WQI) values ranging from 66 to 70. The monitoring point at the mouth of the Mae Klong River in Mueang District (MK01) showed contamination by total coliform bacteria (TCB) exceeding standard levels. Similarly, the monitoring point at Somdet Phra Amarin Bridge in Bang Khonthi District (MK04) showed fecal coliform bacteria (FCB) contamination exceeding standards. Regarding the area’s capacity to handle water pollution, the total BOD Loading was found to be 3,852,731.70 kilograms per year. The highest contribution came from industrial factories (58.16%), communities (31.4%), fruit tree and perennial crop areas (4.98%), aquaculture ponds (2.26%), large building (1.64%), swine farms (0.53%), rice paddies (0.40%), and fuel stations (0.09%), respectively. Spatial analysis identified high-risk areas for water pollution, including Phraek Nam Daeng Subdistrict in Amphawa District, and the subdistricts of Lat Yai, Ban Prok, Mae Klong, Bang Kaew and Bang Khan Taek in Mueang Samut Songkhram District. These areas are all located near the Mae Klong River and its tributary canals. The findings of this research can serve as a foundational resource for provincial-level water pollution management, including regulating pollution sources, prioritizing high-risk areas, and fostering collaboration among government agencies, local authorities, private sectors, and communities to sustainably restore water quality.
Thumbnail Image
Item
ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่านาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ปิติยาพร ภักดีแก้ว; อัจฉรา โยมสินธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ระดับความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมการจัดการน้ำเสียของชุมชนตลาดเก่านาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเพื่อเสนอแนวทางการจัดการน้ำเสียในชุมชนตลาดเก่านาเกลือตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยใช้วิธีการศึกษาแบบสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชากรในชุมชนตลาดเก่านาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีจำนวน 345 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้ง ศึกษาจากข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่านาเกลือ ได้แก่ เพศ อายุ เจนเนอรชั่น การศึกษา อาชีพ รายได้ ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน นอกจากนี้ การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียในชุมชน ระดับความรู้ความเข้าใจในการจัดการน้ำเสีย และทัศนคติในการจัดการน้ำเสียส่งผลต่อพฤติกรรมการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่านาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า เมืองพัทยาให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบ โดยมีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับได้ถึง 108,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมทั้ง มีแผนขยายความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งอย่างเคร่งครัด ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ คือ ภาคชุมชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมดูแลคุณภาพน้ำ หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจึงควรจัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น โครงการ "คลองสวย น้ำใส" เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมบทบาทเยาวชนในการเรียนรู้และร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ปรับปรุงการสื่อสารผ่านสื่อที่เข้าถึงง่าย เช่น รถโฆษณาเคลื่อนที่ เพื่อสื่อสารนโยบายและแนวทางในการจัดการน้ำเสียชุมชนอย่างเหมาะสม
Thumbnail Image
Item
แนวทางการพัฒนาองค์กรมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 กรณีศึกษา บริษัทเดอะเปอร์เฟคท์ซิล แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด
ณิรินทร์ญา จรูญสินจารุภัทร์; จุฑารัตน์ ชมพันธุ์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
งานวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาบริษัทให้บรรลุมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 โดยใช้วิธีการวิเคราะห์หาช่องว่าง (Gap Analysis) โดยการเปรียบเทียบเกณฑ์ของอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรมกับแนวทางการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมสีเขียวของบริษัทในปัจจุบัน เพื่อระบุช่องว่างที่มีอยู่และเสนอแนวทางในการปรับปรุง การศึกษานี้ดำเนินการเก็บข้อมูลผ่านการทบทวนเอกสารและการสัมภาษณ์ กลุ่มข้อมูลหลักประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่รอบสถานประกอบการ รวมทั้งสิ้น 30 คน การวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการโดยใช้วิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation) การวิเคราะห์บริบทองค์กรโดยใช้ SWOT Analysis และการกำหนดกลยุทธ์โดยใช้ TOWS Matrix เพื่อผลักดันให้บริษัทบรรลุความสำเร็จในอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ผลการศึกษาพบว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ข้อกำหนดครบถ้วนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. บริบทขององค์กร 2. ความเป็นผู้นำ (ความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่น) 3. การนำไปปฏิบัติ 4. การทบทวนและการรักษาระบบ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนในการดำเนินการขององค์กรคือ การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสเพื่อการพัฒนาองค์กร ได้แก่ การเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกมากขึ้น ความเชื่อมั่นของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กลยุทธ์ของบริษัทจึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรโดยแต่งตั้งตัวแทนชุมชน ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและตรวจสอบกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
Thumbnail Image
Item
พฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
ณัฐนิชา พรมสุข; วิชชุดา สร้างเอี่ยม (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาศึกษาพฤติกรรมการจัดการขยะในครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองละลอก วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการจัดการขยะในครัวเรือน และเสนอแนวทางในการลดและจัดการขยะในครัวเรือนอย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงปริมาณ และใช้การวิจัยแบบสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม เพื่อรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองละลอก ตามจำนวนกลุ่มตัวอย่างจำแนกแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 140 คน รวมถึงการศึกษาจากข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลที่ต่างกันนั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ยกเว้น ปัจจัยส่วนบุคคล(เพศ) ซึ่งที่ส่งผลคือ อายุ อาชีพ การศึกษา รายได้ ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย ทัศนคติในการจัดการขยะมูลฝอย และการรับรู้ข่าวสารในการจัดการขยะมูลฝอยมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการจัดการขยะ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 คำสำคัญ พฤติกรรม ขยะมูลฝอย ครัวเรือน
Thumbnail Image
Item
ศักยภาพในการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของชุมชน กรณีศึกษาชุมชนรัศมี 1 กิโลเมตรจากคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ะ จังหวัดชลบุรี
เบญจมินทร์ หมื่นแสน; จำลอง โพธิ์บุญ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงศักยภาพในการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของชุมชน กรณีศึกษาชุมชนรัศมี 1 กิโลเมตรจากคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ะ จังหวัดชลบุรี และปัจจัยที่มีสัมพันธ์กับศักยภาพในการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของชุมชน โดยวิธีการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และใช้การวิจัยแบบสำรวจ (Survey Research) โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เพื่อรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากกลุ่มตัวอย่าง คือผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนรัศมี 1 กิโลเมตรจากคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ะ จังหวัดชลบุรี จำนวน 80 คน สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานคือ Pearson's Correlation ผลการศึกษามีดังนี้ 1) ด้านปัจจัยบุคคล พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอายุระหว่าง 31-40 ปี มีสถานภาพสมรส ระดับการศึกษาอนุปริญญา อาศัยในชุมชน 10 ปีขึ้นไปและมีอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน 2) ด้านความเสี่ยงด้านความปลอดภัย พบว่ามีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชนมาก 3) ด้านศักยภาพการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัย พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 4) ด้านปัจจัยที่เกี่ยวกับศักยภาพการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัย พบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ผลการทดสอบสมมุติฐาน พบว่า ศักยภาพการตอบสนองความเสี่ยงด้านความปลอดภัยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านความรู้และทักษะพื้นฐานในการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการช่วยเหลือตนเอง การฝึกอบรมหรือซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ความร่วมมือที่ดีระหว่างชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01 ข้อเสนอแนะ คือ 1) ควรจัดกิจกรรมหรือหลักสูตรอบรมให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดกิจกรรมการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับชุมชนอย่างน้อยปีละ 1–2 ครั้ง 3) ควรมีช่องทางการประสานงานที่ชัดเจนระหว่างชุมชน หน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน เป็นต้น
Thumbnail Image
Item
กรณีศึกษา : ปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของวิสาหกิจ SMEs ขนาดกลางในกรุงเทพมหานคร
กิตติภูมิ รัตนบุญชัยพงศ์; นิธินันท์ ธรรมากรนนท์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณลักษณะของธุรกิจที่มีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของวิสาหกิจขนาดกลาง (SMEs) ในกรุงเทพมหานคร 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของวิสาหกิจขนาดกลาง (SMEs) ในกรุงเทพมหานคร 3) เพื่อเสนอแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับ วิสาหกิจขนาดกลาง (SMEs) ในกรุงเทพมหานครการวิจัยมุ่งตอบคำถามว่าองค์กรขนาดเล็กสามารถระบุและจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ในความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร วิธีดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรม การวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารในองค์กร เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือแบบสัมภาษณ์เชิงลึก ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหาเพื่อระบุประเด็นสำคัญ ผลการวิจัยพบว่า ธุรกิจที่ต่างกันมีความแตกต่างกันในประเภทข้อมูลที่ต้องปกป้อง และระดับความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งส่งผลต่อมาตรการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหมาะสม ปัจจัยที่แตกต่างกันนี้มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในขณะที่องค์กรที่ขาดทรัพยากรและขาดการตระหนักรู้ อาจเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทุกอย่างมีช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ หากไม่ได้รับการอัปเดต ความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอก็อาจถูกโจมตีได้ ด้วยการใช้งานของพนักงานหรือบุคลากรที่ทำผิดพลาดจากใช้รหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัย หรือทำการเปิดเผยข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้ตั้งใจ หากพนักงานไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้เท่าทันภัยคุกคามเหล่านี้ อาจทำให้เกิดเหตุร้ายได้ง่ายขึ้น ผลการศึกษานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการวิจัย คือความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ คำสั่งหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ควรขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมผู้ประกอบการที่หลากหลายมากขึ้น และติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
Thumbnail Image
Item
กระบวนการบริหารจัดการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง อย่างยั่งยืน
สรวิศ แสงประไพ; พรพรหม สุธาทร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการบริหารจัดการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง 2) เพื่อศึกษาปัญหาในการดำเนินงานและความต้องการของชุมชนที่มีต่อธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง และ 3) เพื่อเสนอแนวทางกระบวนการบริหารจัดการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้แทนจากธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสถานศึกษาในพื้นที่ และผู้แทนภาคประชาชน โดยผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลในรูปแบบการสรุปผลตามหลักการของ Balanced Scorecard ที่สามารถสรุปประเด็นได้ 4 มิติ และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร (SWOT Analysis) โดยเน้นในประเด็นกระบวนการบริหารจัดการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า จังหวัดระยอง สามารถนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการบริหารจัดการของธนาคารคัดแยกขยะชุมชนวัดชากลูกหญ้ามีระบบบริหารจัดการที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารที่ตัดสินใจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2) การดำเนินงานยังมีปัญหาโดยพบว่าชุมชนยังขาดความรู้ในการคัดแยกขยะต้นทางอย่างถูกต้อง และการมีส่วนร่วมที่ไม่ต่อเนื่อง ความต้องการหลักคือการฝึกอบรมและการเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรีไซเคิล มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีเนื่องจากบุคลากรที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และยังเผชิญกับความท้าทายจากการขาดความร่วมมือของประชากรแฝง เนื่องจากพื้นที่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก 3) ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อขยายเครือข่ายของธนาคารขยะรีไซเคิลให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทั้งในระดับชุมชนและเมืองต่างๆ พร้อมจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอย่างเหมาะสม สนับสนุนกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาบุคลากรและปรับปรุงโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบธนาคารขยะ และจัดตั้งระบบติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
Thumbnail Image
Item
ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) การบริหารจัดการขยะครบวงจร กรณีศึกษาชุมชนวัดชากลูกหญ้า
สุวรรณี จันทรทิพย์; วิสาขา ภู่จินดา (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ของการบริหารจัดการขยะครบวงจรของวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดชากลูกหญ้า ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงาน และเสนอแนวทางการจัดการที่นำไปสู่ความยั่งยืน การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 14 คน จากภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชนในพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่า ค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมีค่าเท่ากับ 3.94 แสดงให้เห็นว่า ทุกการลงทุน 1 บาท สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่สังคมในมูลค่า 3.94 บาท ซึ่งสะท้อนถึงความคุ้มค่าและผลลัพธ์เชิงบวกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง แนวทางการจัดการขยะของชุมชนวัดชากลูกหญ้าแบ่งออกเป็นสามมิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาระบบจัดการขยะของชุมชนอื่นได้อย่างยั่งยืน
Thumbnail Image
Item
Design of programming data analytic for access controls auditing
Natyapat Suwannapruk; Nithinant Thammakoranonta (National Institute of Development Administration, 2024)
In the contemporary business landscape, technology is indispensable for growth and resilience, while data has emerged as a cornerstone asset. To effectively guide organizational development, the internal audit function must seamlessly integrate data analytics. This study delves into the significance of information technology and data analytics skills for business internal auditors and explores how data analytics tools can be integrated into audit functions, focusing on access control auditing. The study begins by examining the roles of data analytics tools within audit functions and reviewing relevant International Internal Audit Standards and Guidelines related to data analytics. Subsequently, it analyzes Thai regulation and International Standards pertaining to access controls to design effective testing procedures for these security measures. Building upon this literature review, the study develops a Pseudocode concept to translate traditional access control testing procedures into a series of technical steps. This allows for a demonstration of the advantages of utilizing data analytics tools for testing compared to traditional methods. The study’s outcome includes testing flowcharts, Pseudocode designs, and an example of Python script. These demonstrate how internal auditors can leverage data analytics tools to streamline their processes and enhance both effectiveness and efficiency. However, the study acknowledges limitations, such as the technical skills required, data privacy and security concerns, and the organizational context.
Thumbnail Image
Item
ปัญหาการตีความอีโมจิภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560
กฤตยชญ์ เสริมวัฒนากุล; อัญธิกา ณ พิบูลย์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัญหาการตีความอีโมจิ (Emoji) ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 โดยเน้นการศึกษาในทางกฎหมายและแนวโน้มของการนำอีโมจิมาใช้เป็นหลักฐานในคดีความทางกฎหมาย และมุ่งเน้นศึกษาด้วยวิธีการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยรวบรวมข้อมูลจากกฎหมาย ข่าว บทความ งานวิจัย และกรณีศึกษาในต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาในการตีความอีโมจิว่าเป็น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือไม่ และผลกระทบของการตีความอีโมจิที่แตกต่างกันในบริบทต่าง ๆ จนเกิดเป็นปัญหาความลักลั่นในการตีความอีโมจิขึ้น ผลการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ยังไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับอีโมจิ ทำให้เกิดปัญหาในการตีความความหมายของอีโมจิในกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งอาจนำไปสู่ความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มรายละเอียดตรงนี้หน่อยค่ะว่าส่งผลกระทบทางลบต่อใคร อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ แนวโน้มของศาลในต่างประเทศเริ่มมีการนำอีโมจิมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาคดี โดยพิจารณาร่วมกับบริบทของการใช้ ซึ่งเป็นแนวทางที่อาจถูกนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากการศึกษานี้คือ ควรมีการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายดังกล่าวให้รองรับการตีความอีโมจิอย่างชัดเจน รวมถึงกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับการพิจารณาความหมายของอีโมจิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดปัญหาความไม่แน่นอนทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การกำหนดนิยามของอีโมจิในบริบทต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยประกอบการตีความอีโมจิในบริบทต่าง ๆ
Thumbnail Image
Item
การพัฒนาเครื่องมือดักจับที่อยู่ IP อัตโนมัติ สำหรับสืบสวนคดีหลอกให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน LINE
ทัตเทพ หอมงาม; ปราโมทย์ กั่วเจริญ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
งานวิจัยนี้ได้พัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับจับ IP Address จากการสื่อสารบนแอปพลิเคชันไลน์เพื่อสนับสนุนการสืบสวนคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยได้ทำการพัฒนา 3 เครื่องมือ ได้แก่ (1) เว็บไซต์สำหรับส่งข้อความแบบ Flex Message ไปยังห้องสนทนาของผู้กระทำผิด และ ดักจับ IP Address (2) โปรแกรมเก็บข้อมูลการจราจรทางเครือข่ายจากการโทรผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และ (3) เว็บไซต์สำหรับวิเคราะห์ไฟล์ PCAP ที่ได้จากแอปพลิเคชัน PCAPdroid บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 15 นาย ซึ่งมีประสบการณ์การสืบสวนคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลผ่านแบบประเมินประสิทธิภาพ แบบสอบถามความพึงพอใจ และบันทึกการทดลอง ผลการวิจัยพบว่าเครื่องมือสามารถระบุ IP Address ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการใช้งาน และช่วยลดระยะเวลาในการสืบสวนพร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการระบุตัวผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดด้านความเข้ากันได้ของแพลตฟอร์มที่ควรได้รับการพัฒนาต่อไปในอนาคตเพื่อเพิ่มการใช้งานให้กว้างมากยิ่งขึ้น
Thumbnail Image
Item
การศึกษาวาทกรรมในเพลงของวงไททศมิตรที่สะท้อนภาพความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมไทย
เมธาวี คำสวาสดิ์; อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว; วิชชุดา สร้างเอี่ยม (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อศึกษาวาทกรรมที่สะท้อนภาพความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเพลงของวงไททศมิตร 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมที่สะท้อนภาพความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเพลงของวงไททศมิตรกับความเป็นไปในสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2555 - 2565 โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาสาร (content analysis) ในเพลงของวงไททศมิตรในอัลบั้ม เพื่อชีวิตกู ที่ศิลปินในวงเป็นผู้แต่งเองทั้งเพลง และเผยแพร่ผ่านช่อง YouTube ของ Gene Lab นับจากยอดวิวสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่เพลงเสื้อกั๊ก เพลงเพื่อชีวิตกู และเพลงผีพนันแล้วเปรียบเทียบกับความเป็นไปในสังคมในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2565 ผลการศึกษา พบว่าเพลงของวงไททศมิตรได้สื่อสารวาทกรรมที่สะท้อนภาพความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 5 เรื่อง โดยมีความสัมพันธ์กับความเป็นไปในสังคมไทย ดังนี้ 1) ความยากจน ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ไม่พบว่าคนจนใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวเป็นหลัก 2) การศึกษาและอาชีพ ที่สะท้อนถึงค่านิยมว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษานำไปสู่อาชีพที่มั่นคง แต่ยังคงขัดแย้งกับภาวะว่างงานของบัณฑิต และไม่พบการด้อยค่าอาชีพใช้แรงงานหรืออาชีพด้านศิลปะ 3) บทบาทและหน้าที่ของผู้ชาย ที่สะท้อนว่าผู้ชายมีส่วนร่วมในแรงงานและการเมืองมากกว่าผู้หญิง แต่ไม่พบว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำครอบครัว 4) การพนัน ที่สะท้อนให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจน แต่ไม่พบว่าคนจนใช้เงินก้อนที่จำเป็นในการพนัน 5) ความบกพร่องของรัฐในการบริหารจัดการประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และกระบวนการยุติธรรมที่มีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
Thumbnail Image
Item
โอกาสและความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎหมายสินค้าปลอดจากการตัดไม้ ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation Regulations: EUDR) ต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราไทย
กานต์มณี รัตน์ธนพันธ์; ฆริกา คันธา; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาเรื่องโอกาสและความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของ สหภาพยุโรป (EUDR) ต่อผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานช่วงต้นน้ำของอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราไทย รวมถึงการวิเคราะห์ความพร้อมของอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราไทยในการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR และเสนอแนวทางในการดำเนินงานปรับตัว ของผู้ประกอบการยางพาราในประเทศเนื่องจากกฎหมาย EUDR มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าจาก สินค้าอุปโภคที่ผลิตจากยางพาราจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า และ ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทย เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ของโลก และมีสัดส่วนปริมาณยางพาราในอัตรา 1:3 ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการค้าจากกฎหมาย EUDR ดังนั้นการศึกษานี้จึงได้ให้ความสนใจในการสำรวจปัญหา อุปสรรค และการเตรียมตัวของกลุ่มเกษตรกร จุดรับซื้อน้ำยางพาราสด และโรงงานแปรรูปยางพารา รวมถึงโอกาสและความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฏหมายดังกล่าว
Thumbnail Image
Item
สถานการณ์จำลองการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ล่าช้า: กรณีศึกษาธุรกิจการเกษตรในประเทศไทย
ธวัลยา แสงสว่าง; ฆริกา คันธา; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์จำลอง Delay Transition to Net Zero ที่จัดทำโดย Network for Greening the Financial System (NGFS) ซึ่งเป็นสถานการณ์จำลองทางสภาพภูมิอากาศที่ตั้งสมมติฐานว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risks) ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจภาคการเกษตรไทย ผลการศึกษาพบว่าภายใต้สถานการณ์ Delay Transition ธุรกิจการเกษตรไทยอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนคาร์บอนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานซึ่งเกิดจากการที่อุปสงค์ของน้ำมันลดต่ำลง ในขณะที่อุปสงค์ของพลังงานชีวมวลเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น ธุรกิจภาคการเกษตรไทยควรเตรียมความพร้อมโดยการสร้างความเข้าใจกลไกราคาคาร์บอนและนโยบายพลังงาน และคว้าโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ในขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจภาคการเกษตรไทยสามารถก้าวผ่านสู่เป้าหมาย Net Zero ได้สำเร็จ
Thumbnail Image
Item
แนวทางในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence
จิดาภา พานิชย์วัฒนานนท์; วิสาขา ภู่จินดา; พรพรหม สุธาทร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence ทั้งช่องว่างและแนวทางการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Excellence ตามคู่มือเกณฑ์การตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบซึ่งหน้าเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างคือ บริษัทภายในนิคมฯ จำนวน 30 บริษัทและผู้บริหารรวมถึงพนักงานสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จำนวน 2 คน และคณะทำงานจากบริษัท เวลโกรว์ อินดัสทรีส์ จำกัด (ผู้พัฒนา) จำนวน 1 คน แล้วนำมาวิเคราะห์ช่องว่างการพัฒนา (Gap Analysis) เพื่อให้ทราบแนวทางการยกระดับ ผลการศึกษาพบว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ในมิติ 1) มิติสิ่งแวดล้อม 2) มิติสังคม 3) มิติการบริหารจัดการ เป็นจุดแข็งมีความโดดเด่นในการพัฒนาโดย 1) มิติสิ่งแวดล้อมพบว่าโรงงานสามารถดำเนินการวางแผน วิเคราะห์ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2) มิติสังคมด้านวัสดุเหลือใช้พบว่าโรงงานผู้ประกอบการในนิคมฯ นำส่งข้อมูลตามระบบการจัดการของเสียออกนอกโรงงานครบถ้วนตามระบบกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้าน Happy Workplace นิคมฯ และโรงงานมีการดำเนินงานครบทั้ง 8 ประการและด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและด้านความรับผิดชอบต่อสังคมพบช่องว่างโดยมีโรงงานที่ผ่านการตรวจประเมิน CSR-DIW ไม่ครบตามเกณฑ์กำหนด 3) มิติบริหารจัดการพบว่านิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์มีการจัดประชุมและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเฝ้าระวังคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) สู่ชุมชนและหน่วยงานภายนอกให้รับทราบทุก 6 เดือน ด้านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 4 พบว่าปัจจุบันโรงงานในนิคมฯ ยังมีโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจประเมินรับรอง อย่างไรก็ตามในมิติ 4) มิติกายภาพ 5) มิติเศรษฐกิจ ยังพบช่องรวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการตอบแบบสอบถามและการขาดการร่วมดำเนินงานระหว่างโรงงานและนิคมฯ โดย 4) มิติกายภาพด้านขนส่งพบว่าโรงงานมีการใช้มาตรการเกี่ยวกับระบบขนส่งและโลจิสติกส์สีเขียว แต่ยังไม่กำหนดใช้ตลอดห่วงโซ่และ 5) มิติเศรษฐกิจด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนพบว่านิคมฯ ยังไม่มีวิสาหกิจชุมชน และโรงงานยังขาดความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพราะโรงงานแต่ละโรงงานจะดำเนินการด้านนี้ด้วยตนเอง
Thumbnail Image
Item
แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการขับเคลื่อน นโยบาย ESG กรณีศึกษา กลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง
กฤษติกร มาประจง; ฆริกา คันธา; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาเรื่อง "แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการขับเคลื่อนนโยบาย ESG: กรณีศึกษากลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ระบุปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคตลอดจนนำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ESG ขององค์กร การศึกษาใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการทบทวนกรณีศึกษาจากองค์กรชั้นนำ การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้อง และการสำรวจความคิดเห็นพนักงานผ่านแบบสอบถาม ผลการศึกษานี้นำเสนอทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานในการดำเนินงานด้าน ESG ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การศึกษาในครั้งนี้ ใช้วิธีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ประกอบด้วยการทบทวนคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย งานวิจัยและบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง บทความออนไลน์ด้านการจัดการองค์กร และรายงานความยั่งยืนขององค์กรชั้นนำต่างๆ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ESG ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จากการวิเคราะห์ดังกล่าว สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ ในปัจจุบัน การดำเนินงานตามนโยบาย ESG กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร การมีส่วนร่วมของพนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีนโยบาย ESG ที่ชัดเจน แต่ยังพบอุปสรรคในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกระดับ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความตระหนักรู้ การสื่อสารที่ไม่ทั่วถึง หรือการขาดแรงจูงใจที่เพียงพอ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมและแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้วิธีการศึกษาแบบผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยแบ่งกระบวนการศึกษาออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันผ่านการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในกลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในนโยบาย ESG ด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก จากนั้นจึงทำการศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีโดยวิเคราะห์กรณีศึกษาจากองค์กรอื่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานด้าน ESG และขั้นตอนสุดท้ายคือการนำเสนอแนวทางปรับปรุงผ่านการจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทขององค์กร ผลการศึกษาพบว่าสถานการณ์ปัจจุบันของพนักงานมีความตระหนักรู้ในนโยบาย ESG อยู่ในระดับปานกลาง (54.2%) แต่ยังขาดความเข้าใจในบทบาทของตนเอง (45.4%) อีกทั้งการสื่อสารภายในองค์กรยังไม่ครอบคลุมทุกระดับและขาดแรงจูงใจที่ชัดเจนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยพบว่าปัจจัยที่ส่งเสริมประกอบด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืน และการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงในขณะที่อุปสรรคสำคัญได้แก่การขาดความชัดเจนในนโยบาย การขาดทรัพยากรสนับสนุน และภาระงานประจำที่หนักเกินไป (30.1%) สำหรับแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมนั้นควรมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความเข้าใจใน ESG พัฒนากลยุทธ์การสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลและการยกย่องพนักงาน รวมถึงจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับ ESG เช่น การรณรงค์ปลูกต้นไม้หรือกิจกรรมอาสาสมัคร ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาองค์กรประกอบด้วยสี่ด้านหลัก โดยด้านการสื่อสารนั้นองค์กรควรสร้างช่องทางที่ครอบคลุมและหลากหลายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ESG เข้าถึงพนักงานทุกระดับ ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรเพิ่มการอบรมที่เน้นบทบาทของพนักงานใน ESG และเสริมสร้างทักษะที่เกี่ยวข้อง สำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นควรส่งเสริมให้มุ่งเน้นความยั่งยืนโดยการบูรณาการ ESG เข้ากับกระบวนการทำงานประจำวัน และประการสุดท้ายคือการสร้างระบบติดตามและประเมินผลที่สามารถวัดประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของพนักงานใน ESG การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการขับเคลื่อน ESG เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จของนโยบาย ESG ขององค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมและการให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงาน จะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษานี้ได้เสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษาจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการขับเคลื่อนนโยบาย ESG ของกลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง อย่างยั่งยืนต่อไป
Thumbnail Image
Item
ศึกษาหลักเกณฑ์ การประเมินด้าน ESG และทำการประเมิน นโยบายของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย จำกัด
กนกอร บูรณะพาณิชย์กิจ; วิสาขา ภู่จินดา; พรพรหม สุธาทร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ การประเมินด้าน ESG และทำการประเมิน นโยบายของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่ผู้วิจัยทำงานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยองค์กรยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของข้อกำหนดของมาตรฐานการประเมินด้านความยั่งยืน ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างสากล ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเปรียบเทียบ มาตรฐานต่างๆ เช่น MSCI ESG Rating หรือ Sustainalytics หรือ S&P Global ESG rating และได้ทำการคัดเลือก S&P Global ESG rating เพื่อทำการศึกษาเชิงลึกถึงรายละเอียดของข้อกำหนด และนำมาเปรียบเทียบกับนโยบายขององค์กรในปัจจุบัน และวิเคราะห์เพื่อหาช่องว่างในการพัฒนาพบว่า ทั้ง 3 มิติ ยังมีช่องว่างในการนำไปพัฒนาองค์กร เช่น ในด้านธรรมาภิบาล ควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ควรมุ่งเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดสากล เช่น TCFD รวมไปถึง การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการออกแบบและเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กร ส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม รวมถึงระบบการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ที่เป็นธรรมและโปร่งใส ซึ่งจากผลการศึกษานี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย จำกัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างกลยุทธ์ กำหนดนโยบาย โดยมุ่งเน้นไปในด้าน การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) การดูแลผลิตภัณฑ์(Product Stewardship) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การจัดการทุนมนุษย์ ( Human Capital Management) เพื่อพัฒนาความยั่งยืนในองค์กรต่อไป
Thumbnail Image
Item
อาคารสีเขียว: ปัจจัยความสำเร็จและแนวทางการพัฒนาอาคารเขียวในประเทศไทย
ไพรัตน์ ครุฑวิสัย; ฆริกา คันธา; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของอาคารเขียวในประเทศไทย และเพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการพัฒนาอาคารเขียวของประเทศไทย โดยทำการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ Stakeholder หลากหลายสาขาอาชีพ คลอบคลุมทั่วทั้ง Supply Chain ได้แก่ ผู้รับเหมา นักวิชาการ และหน่วยงานกำกับดูแล ผลการศึกษาพบว่า Green Building เป็นการก่อสร้างที่ออกแบบอาคารและการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นทางเลือกที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรฐานงานก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้างเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ทั้งการออกแบบการใช้ทรัพยากรและวัสดุก่อสร้างอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้มาตรฐานสุขภาพอนามัย มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เปลี่ยน Waste หรือความสูญเสีย ให้เป็น Wealth หรือการสร้างผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวรวมทั้งการบริหารจัดการ การจะบรรลุเป้าหมายการก่อสร้างอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันผลักดัน สนับสนุน และมีส่วนร่วมในทุก ๆ กระบวนการ ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการพัฒนาการสร้างที่พักอาศัยที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางระยะสั้นสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ความรู้ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาคารเขียว ส่งเสริมให้บุคลากรไปฝึกอบรมและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้มากขึ้น และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แนวทางระยะกลางสนับสนุนให้มีการพัฒนาเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวสำหรับของอาคารทุกประเภทโดยมีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมีการอ้างอิงจากเกณฑ์การประเมินของต่างประเทศเพื่อให้เกณฑ์ที่ใช้ในประเทศไทยมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น แนวทางระยะยาวสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคารเขียวโดยตรง เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนด้านการประหยัดพลังงาน และมีพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการการอนุรักษ์พลังงานแต่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับอาคารเขียวโดยตรง ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้การสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีพัฒนาการที่เร็วขึ้นทั้งระบบ
Thumbnail Image
Item
ปัจจัยที่ส่งผลกับความตระหนักต่อการลดปริมาณขยะสำนักงานเพื่อเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ กรณีศึกษา บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สถาพร ปิติถาโน; ณพงศ์ นพเกตุ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2024)
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกับความตระหนักต่อการลดปริมาณขยะสำนักงาน เพื่อเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ กรณีศึกษา บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และแนวทางในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ โดยใช้แนวทางการจัดการขยะที่ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การงดหรือเลิก การลด การใช้ซ้ำ จนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก 1A3R (Avoid, Reduce, Reuse, Recycle) โดยวิธีการเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานที่ปฏิบัติงานภายในอาคารบีทีเอส (สำนักงานใหญ่) จำนวน 90 คน ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) วิเคราะห์ระดับความคิดเห็น และใช้สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ส่งผลกับความตระหนักต่อการลดปริมาณขยะและการทดสอบสมมติฐานที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01 และ 0.05 ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกับความตระหนักต่อการลดปริมาณขยะในสำนักงาน ได้แก่ 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ที่เน้นความรู้และพฤติกรรม 2) ปัจจัยภายในองค์กร ที่เน้นสื่อประชาสัมพันธ์และ ผลตอบแทนเพื่อจูงใจ และ 3) ปัจจัยภายนอกองค์กร ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และการรับรู้ถึงผลกระทบของขยะมูลฝอยต่อสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน มีพฤติกรรมเชิงบวกในการลดปริมาณขยะภายในสำนักงาน ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้เน้นให้บริษัทฯ สามารถลดปริมาณขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น 1) การจัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของพนักงานเกี่ยวกับผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม 2) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการวางแผนการจัดเก็บและการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) มาตรการจูงใจเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นที่ต้องการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน