ชื่อเรื่อง:
| อุปทานและอุปสงค์ของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2531-2000 |
ชื่อเรื่องอื่นๆ:
| Supply and demand for professional nurses in Thailand during l988-2000 |
ผู้แต่ง:
| ชื่นชม เจริญยุทธ |
ผู้ควบคุมงานวิจัย:
| สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, อาจารย์ที่ปรึกษา |
ชื่อปริญญา:
| พัฒนบริหารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต |
ระดับปริญญา:
| ปริญญาเอก |
สาขาวิชา:
| ประชากรและการพัฒนา |
คณะ/หน่วยงาน:
| คณะสถิติประยุกต์ |
หน่วยงานที่ประสาทปริญญา:
| สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
วันที่เผยแพร่:
| 2533 |
หน่วยงานที่เผยแพร่:
| สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ:
|
การศึกษานี้ มีจุดประสงค์เพื่อคาดประมาณจำนวนการผลิตพยาบาลระดับวิชาชีพในประเทศไทย และจำนวนพยาบาลที่จะมีอยู่ในแรงงาน ระหว่าง พ.ศ. 2531-2000 แต่ละปี ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงสภาพความต้องการพยาบาลวิชาชีพในตลาดแรงงานในช่วงทศวรรษหน้า นอกจากนี้ก็มุ่งศึกษากิจกรรมการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพไปจากแรงงานก่อนเวลาอันควร. ในการวิเคราะห์อุปทานของพยาบาลวิชาชีพ คาดประมาณจำนวนการผลิตพยาบาล ระหว่าง พ.ศ. 2531-2000 จากแนวโน้มการรับนักศึกษาพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2530-2534 และอัตราการลาออกของนักศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2524-2527 ส่วนการคาดประมาณจำนวนพยาบาลในแรงงาน พิจารณาจากจำนวนพยาบาลและอัตราการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพ ระหว่าง 2527-2529 ร่วมกับจำนวนการผลิตที่คาดประมาณไว้แล้วแต่ละปี การวิเคราะห์อุปสงค์ของพยาบาลวิชาชีพ คาดประมาณจำนวนพยาบาลวิชาชีพที่ต้องการระหว่าง พ.ศ. 2531-2000 จากแนวโน้มอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากร 100,000 คน ระหว่าง พ.ศ. 2525-2529 ร่วมกับจำนวนประชากรของประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2531-2000 และอีกกรณีหนึ่งคือ ให้มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นในส่วนที่ให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำที่สถานีอนามัยแห่งละ 1 คน ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป. สำหรับกิจกรรมการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ วิเคราะห์สัดส่วนของเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติแต่ละกิจกรรมของพยาบาลวิชาชีพ แผนกอายุรศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เปรียบเทียบกับผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำการศึกษาในปี พ.ศ. 2512-13. ส่วนการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพไปจากแรงงานก่อนเวลาอันควรนั้น ใช้ตัวอย่างพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล รวม 11 โรงพยาบาล สำรวจลักษณะทางเศรษฐกิจ-สังคม ประชากร และปัญหาในการปฏิบัติงาน โดยใช้แบบสอบถาม และใช้วิธีวิเคราะห์ปัจจัยในการวิเคราะห์ตัวแปรอิสระทั้งหมด จากนั้นใช้การวิเคราะห์จำแนกประเภท และการวิเคราะห์การจำแนกพหุ เพื่อหาอิทธิพลของตัวแปรแต่ละตัว ที่มีต่อการสูญเสียพยาบาล ผลการคาดประมาณการผลิตพยาบาล ถ้าอัตราเพิ่มการรับนักศึกษาเพิ่มในระดับต่ำคือ 1.15. สำหรับจำนวนพยาบาลในแรงงาน พบว่า ถ้าอัตราเพิ่มการรับนักศึกษาเพิ่มในระดับกลาง และการสูญเสียพยาบาลในระดับต่ำคือ 2.11. ในด้านอุปสงค์ของพยาบาลวิชาชีพ ถ้าความต้องการพยาบาลวิชาชีพเป็นไปตามอัตราส่วน พยาบาลวิชาชีพต่อประชากร 100,000 คน ระหว่าง พ.ศ. 2525-2529 และอัตราเพิ่มประชากรอยู่ในระดับต่ำ ใน พ.ศ. 2000 จะต้องการพยาบาลวิชาชีพในแรงงาน 70,103 คน แต่ถ้าอัตราเพิ่มประชากรเพิ่มในระดับกลาง ความต้องการพยาบาลวิชาชีพจะเพิ่มเป็น 71,127 คน และถ้าอัตราเพิ่มประชากรเพิ่มในระดับสูง จะต้องมีพยาบาลวิชาชีพในแรงงานถึง 75,132 คน ในกรณีที่ให้มีอุปสงค์สูงขึ้น คือ ให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำที่สถานีอนามัยแห่งละ 1 คน ถ้าประชากรเพิ่มในระดับต่ำ จะต้องการพยาบาลวิชาชีพในแรงงาน 54,706 คน ในปี 2535 แล้วเพิ่มเป็น 78,751 คน ในปี 2000 แต่ถ้าประชากรเพิ่มในระดับกลาง และระดับสูง ความต้องการพยาบาลวิชาชีพในแรงงาน ในปี 2000 จะมีประมาณ 79,775 คน และ 83,780 คน ตามลำดับ. เกี่ยวกับสภาพของตลาดแรงงานของพยาบาลวิชาชีพ ถ้าอุปสงค์ของพยาบาลวิชาชีพ เป็นไปตามอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรระหว่าง พ.ศ. 2525-2529 และประชากรเพิ่มในระดับกลางถึงระดับต่ำ และอัตราเพิ่มการรับนักศึกษาเพิ่มในระดับต่ำ เฉพาะการสูญเสียระดับต่ำเท่านั้น ที่จะทำให้มีอุปทานของพยาบาลสูงกว่าอุปสงค์ และถ้าการสูญเสียเพิ่มเป็นระดับกลางหรือสูง จะมีการขาดแคลนตลอดช่วงเวลาของการคาดประมาณ ถึงแม้ว่าจะสามารถเพิ่มการรับนักศึกษาให้สูงถึงระดับกลาง แต่ถ้าการสูญเสียอยู่ในระดับกลาง ก็จะมีการขาดแคลนพยาบาลในช่วง 3 ปีหลัง. ถ้าต้องการให้มีการเพิ่มอุปสงค์ของพยาบาล โดยให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำที่สถานีอนามัยแห่งละ 1 คน แล้ว ไม่ว่าอัตราเพิ่มประชากร อัตราการรับนักศึกษา และอัตราการสูญเสีย จะเป็นไปในระดับใด ในที่กำหนดไว้ในข้อสมมติ ก็จะมีการขาดแคลนในทุกข้อสมมติ และตลอดช่วงเวลาที่คาดประมาณ. กิจกรรมการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ จากการสังเกตและจดบันทึก กิจกรรมการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพที่เป็นประชากรตัวอย่าง รวม 192 คน บันทึกกิจกรรม รวม 929 ครั้ง พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นกิจกรรมการพยาบาลทางอ้อม และการบริหาร สำหรับกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงมีประมาณหนึ่งในสาม ส่วนกิจกรรมส่วนตัวของพยาบาลนั้นมีประมาณร้อยละ 16. เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนการปฏิบัติกิจกรรมทั้ง 3 ประเภท ในเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน พบว่าพยาบาลใช้เวลาในการให้การพยาบาลโดยตรงแก่ผู้ป่วย 2 ชั่วโมง 45 นาที ให้การพยาบาลโดยอ้อมและงานบริหาร 3 ชั่วโมง 59 นาที มีเวลารับประทานอาหารและพักผ่อน เพียง 1 ชั่วโมง 16 นาที และถ้าต้องการให้พยาบาลวิชาชีพได้ปฏิบัติงานตามเกณฑืที่กำหนดโดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ก็จะต้องเพิ่มอัตรากำลังของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยขนาด 30 เตียง จาก 5 คน เป็น 6 คน สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพไปจากแรงงานก่อนเวลาอันควร ได้แก่ การมีปัญหาในการทำงาน ทั้งปัญหาด้านสภาพการทำงาน ลักษณะงาน ผู้บังคับบัญชา นโยบายและการบริหาร และปริมาณงานที่รับผิดชอบ นอกนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน รายได้ต่อเดือน ระดับขั้นเงินเดือน ซึ่งมีอิทธิพลในทางตรงข้าม กับความตั้งใจที่จะลาออกหรือโอนย้ายของพยาบาล ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าผู้ที่มีประสบการณ์มากสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของงานได้ดี มีความมั่นคงทั้งในหน้าที่การงานและฐานะทางเศรษฐกิจ ก็จะสามารถปฏิบัติงานอยู่ต่อไปได้จนตลอดวัยแรงงาน ส่วนข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียพยาบาลนั้น ที่สำคัญได้แก่ การปรับระดับและขยายอัตราตำแหน่งของพยาบาลให้สูงขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพและความเพียงพอของเครื่องมือ-เครื่องใช้ การปรับปรุงเกณฑ์ในการจัดสรรบุคลากร และการพิจารณาความดีความชอบ การระบุหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน การแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการปรับปรุงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และเงินชดเชยเมื่ออยู่เวรบ่าย-เวรดึก สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้จากผลการศึกษาครั้งนี้ก็คือ ผู้บริหารไม่ควรจัดให้มีเตียงรับผู้ป่วยเกิน 30 เตียง ในแต่ละหอผู้ป่วย ควรมีการสร้างแรงจูงใจให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ยังมีประสบการณ์น้อย ๆ อย่างน้อยในระยะ 5 ปีแรกของการทำงาน และควรจะได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับรายได้ของพยาบาล ซึ่งพยาบาลวิชาชีพควรมีรายได้ไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน จึงจะทำให้พยาบาลสามารถปฏิบัติงานอยู่ในวิชาชีพต่อไปได้
|
รายละเอียดเพิ่มเติม:
|
วิทยานิพนธ์ (พบ.ด. (ประชากรและการพัฒนา))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2533.
|
หัวเรื่องมาตรฐาน:
| พยาบาล -- อุปสงค์และอุปทาน -- ไทย |
ประเภททรัพยากร:
| Dissertation |
ความยาว:
| ก-ฑ, 183 แผ่น |
ชนิดของสื่อ:
| Text |
รูปแบบแฟ้มข้อมูล:
| application/pdf |
ภาษา:
| tha |
สิทธิในการใช้งาน:
| ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
สิทธิในการเข้าถึง:
| สงวนสิทธิ์ในการเข้าถึงเอกสารฉบับเต็มเฉพาะ นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เท่านั้น |
ผู้ครอบครองสิทธิ์:
| สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI:
| http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/411 |