ประสิทธิภาพของกองทุนรวมในประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
by ยุพวดี ชินพฤทธิวงศ์
Title: | ประสิทธิภาพของกองทุนรวมในประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
Other title(s): | Mutual fund efficiency in AEC |
Author(s): | ยุพวดี ชินพฤทธิวงศ์ |
Advisor: | สรศาสตร์ สุขเจริญสิน |
Degree name: | เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ |
Degree department: | คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2018 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
บทความนี้ศึกษาการวัดประสิทธิภาพของกองทุนรวมในประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับนี้ได้นำใช้วิธีการวัดประสิทธิภาพกองทุนรวมจากวิธี Data Envelopment Analysis (DEA) แทนการวัดประสิทธิภาพแบบดั้งเดิม (Traditional Index) โดยนำสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมต่อสินทรัพย์สุทธิมาพิจารณาการวัดประสิทธิภาพของกองทุนรวมด้วย ซึ่งจากผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า กองทุนรวมในประเทศสิงคโปร์เป็นกองทุนรวมที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยที่มีกองทุนรวมจากประเทศมาเลเซียและประเทศไทยมีระดับประสิทธิภาพที่รองลงมาสลับกันไปในแต่ละปี และเมื่อพิจารณาประเภทของกองทุนรวมในแต่ละประเทศ พบว่า กองทุนรวมตลาดเงินและตราสารหนี้เป็นกองทุนรวมที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของกองทุนรวมของทั้งสามประเทศ คือ ความเสี่ยงของอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวม และสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม ซึ่งกองทุนรวมในประเทศไทยมีปัจจัยนำเข้าส่วนเกินทั้ง 2 ปัจจัยสูงที่สุด ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในระดับต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ขนาดของกองทุนรวมเป็นปัจจัยนำเข้าส่วนเกินที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของกองทุนรวมทั้ง 3 ประเทศน้อยที่สุด
สำหรับการศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของกองทุนรวมในประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าคะแนนประสิทธิภาพของกองทุนรวมจากวิธี DEA และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของกองทุนรวมโดยใช้แบบจำลอง Ordinary Least Square (OLS) จากการศึกษาพบว่า กองทุนรวมทั้ง 3 ประเทศ มีลักษณะของกองทุนรวมที่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของกองทุนรวมในเชิงบวกและเชิงลบที่แตกต่างกัน สำหรับในประเทศมาเลเซีย หากอันดับเรทติ้งของกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้นจะทำให้กองทุนรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้มีค่าคะแนนประสิทธิภาพมากกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ และกองทุนรวมตราสารทุนเป็นกองทุนรวมที่มีค่าคะแนนประสิทธิภาพที่ต่ำกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่สำหรับในประเทศสิงคโปร์ หากกองทุนรวมมีอายุมากขึ้น และอันดับเรทติ้งของกองทุนรวมเพิ่มขึ้นจะทำให้กองทุนรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามกองทุนรวมขนาดใหญ่กว่ามีประสิทธิภาพของกองทุนรวมต่ำกว่ากองทุนรวมที่มีขนาดเล็กกว่า และเมื่อพิจารณาถึงประเภทของกองทุนรวม พบว่า กองทุนรวมผสม และกองทุนรวมตราสารทุนจะมีค่าคะแนนประสิทธิภาพที่ต่ำกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศจะมีค่าคะแนนประสิทธิภาพของกองทุนรวมต่ำกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประเทศไทยอันดับเรทติ้งของกองทุนรวมที่สูงขึ้นจะทำให้ประสิทธิภาพของกองทุนรวมเพิ่มขึ้น และหากกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่กว่าจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่ากองทุนรวมที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กองทุนรวมผสมจะเป็นกองทุนรวมที่มีค่าคะแนนประสิทธิภาที่ต่ำกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ และกองทุนรวมตลาดเงินจะมีค่าคะแนนประสิทธิภาพที่สูงกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ในการศึกษาความสม่ำเสมอประสิทธิภาพของกองทุนรวมของทั้ง 3 ประเทศ จากวิธี Transference Matrixes และการหาความสัมพันธ์ของค่าคะแนนประสิทธิภาพในอดีตและค่าคะแนนประสิทธิภาพในปัจจุบัน ซึ่งจากผลการศึกษาทั้งสองวิธี พบว่า กองทุนรวมทั้งสามประเทศมีความสม่ำเสมอในด้านของประสิทธิภาพของกองทุนรวม ค่าคะแนนประสิทธิภาพในอดีตและค่าคะแนนประสิทธิภาพในปัจจุบันมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก และกองทุนรวมส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มควอร์ไทล์เดิม โดยที่ในประเทศมาเลเซียหากกองทุนรวมมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้มีโอกาสความน่าจะเป็นที่กองทุนรวมอยู่ในกลุ่มประสิทธิภาพเดิมเพิ่มขึ้น แต่หากกองทุนรวมตลาดเงินเป็นเป็นปัจจัยที่มีความน่าจะเป็นที่จะเปลี่ยนกลุ่มประสิทธิภาพเพิ่มมากกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ สำหรับในประเทศสิงคโปร์ อันดับเรทติ้งสูงขึ้นทำให้มีโอกาสความน่าจะเป็นที่เปลี่ยนกลุ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น และหากเป็นกองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสมมีความน่าจะเป็นที่จะเปลี่ยนกลุ่มประสิทธิภาพมากกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ แต่หากเป็นกองทุนรวมตลาดเงินมีความน่าจะเป็นที่จะอยู่ในกลุ่มประสิทธิภาพเดิมมากกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกันกับกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศมีความน่าจะเป็นที่จะอยู่ในกลุ่มประสิทธิภาพเดิมมากกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ในประเทศไทย หากอายุของกองทุนรวมมากขึ้นมีโอกาสเปลี่ยนกลุ่มประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และหากกองทุนรวมมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้กองทุนรวมมีโอกาสที่จะเปลี่ยนกลุ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น
จากผลของงานวิจัยฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายในการแข่งขัน และกลยุทธ์ของทั้งในบริษัทจัดการลงทุนกองทุนรวม ภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายการลงทุน เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของกองทุนรวมในแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต และยังเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีประสิทธิภาพและมีความสม่ำเสมอของประสิทธิภาพในประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศ.ม. (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561 |
Subject(s): | กองทุนรวม |
Keyword(s): | e-Thesis
ประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสิทธิภาพ Data envelopment analysis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 108 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4033 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|