Research Reports

Permanent URI for this collectionhttps://repository.nida.ac.th/handle/662723737/6789

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 3 of 3
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการพัฒนาห้องค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้ในยุคที่สร้างความพลิกผันทางเทคโนโลยี
    อติกานต์ ม่วงเงิน; กนกวรรณ จันทร; ธิดารัตน์ แซ่หยี (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2021)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลการให้บริการห้องค้นคว้า วิเคราะห์ช่องว่างในการพัฒนาการให้บริการห้องค้นคว้า และเสนอแนวทางที่เหมาะสมของการพัฒนาการให้บริการห้องค้นคว้าในยุคที่สร้างความพลิกผันทางเทคโนโลยี ตามหลักการบริหารเชิงดุลยภาพ (Balanced Scorecard) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยได้มีการสัมภาษณ์ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดมหาวิทยาลัย ในเครือข่ายคณะทำงานความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ฝ่ายเทคโนโลยีสารนิเทศ จำนวน 7 แห่ง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจำนวน 381 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยมีการคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่าง จากสูตรของ Yamane (1967, อ้างถึงใน ธานินทร์ ศิลป์จารุ, 2549, น. 47) จากนักศึกษาที่เข้ามาใช้บริการห้องค้นคว้าของสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อให้ความคิดเห็นต่อการเป็นห้องค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลแบบสัมภาษณ์ด้วยวิธีสังเคราะห์เนื้อหา โดยจับประเด็นจากข้อมูลที่สัมภาษณ์ จัดหมวดหมู่ และสรุปสาระสำคัญจากการสัมภาษณ์ในประเด็นที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลแบบสอบถามด้วยสถิติเชิงพรรณนา ใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ส่วนรายด้าน และโดยรวมจะเปรียบเทียบเป็นค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า เมื่อนำการบริหารเชิงดุลยภาพมาประยุกต์ใช้ในการประเมินผลการให้บริการห้องค้นคว้า มีแนวทางที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการห้องค้นคว้า ดังนี้ 1) มุมมองด้านประสิทธิผลการให้บริการ พบว่า ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้งานห้องค้นคว้าเพื่อการศึกษา การค้นคว้า การอบรม การวิจัย การเรียนรู้ตามอัธยาศัย เพิ่มพูนความรู้ เพิ่มทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่ม การนำเสนองาน การสร้างแรงบันดาลใจจากการชมภาพยนตร์ และการศึกษารูปแบบใหม่ผ่านการเล่นบอร์ดเกม 2) มุมมองด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า ผู้ใช้บริการห้องค้นคว้า มีความคิดเห็นต่อการเป็นห้องค้นคว้า ในภาพรวมอยู่ในระดับที่ไม่ต้องปรับปรุงเลยดีอยู่แล้ว 3) มุมมองด้านการบริหารจัดการภายในเพื่อการให้บริการ พบว่า (1) ด้านการวางแผน มีการนำข้อเสนอแนะ/ข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการมาวางแผนเพื่อดำเนินการแก้ปัญหา มีการนำสถิติต่าง ๆ มาวางแผนในการจัดหางบประมาณการให้บริการห้องค้นคว้า (2) ด้านการดำเนินงาน มีการกำหนดค่านิยมหลักในการทำงาน การกระจายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและการตัดสินใจไปในแต่ละส่วนงาน พร้อมกับส่งเสริมให้บุคลากรทำงานเป็นทีม (3) ด้านการติดตามและประเมินผล มีการติดตามและประเมินผลความคืบหน้าของงานที่ดำเนินการตามแผน มีการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อการใช้งานห้องค้นคว้า วิเคราะห์ ตรวจสอบปัญหา และประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (4) ด้านการพัฒนา มีการประเมินวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย พร้อมกับนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงพัฒนา และวางแผนการดำเนินงานของการให้บริการห้องค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ตามข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และศึกษาการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยอื่น ๆ 4) มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา พบว่า (1) ด้านระบบการเข้าใช้งานห้องค้นคว้า ผู้ใช้บริการสามารถจองห้องค้นคว้าได้หลายช่องทาง ระบบมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าของการบริการห้องค้นคว้าผ่านแอพพลิเคชั่นและรองรับระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย (2) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก มีการปรับปรุงระบบเครือข่ายให้เอื้อต่อการใช้บริการห้องค้นคว้า และภายในห้องค้นคว้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นและตรงต่อการใช้งาน รวมถึงมีการออกแบบและตกแต่งที่ทันสมัย และมีความปลอดภัย (3) ด้านการแนะนำการใช้งานห้องค้นคว้า มีการแนะนำการใช้งานห้องค้นคว้าแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างถูกต้อง (4) ด้านการอบรมการเข้าใช้งานห้องค้นคว้า มีการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On Job Training: OJT) และมีการส่งเสริมให้ห้องค้นคว้ามีความเป็นวัฒนธรรมสีเขียว เป็นวัฒนธรรมที่ประหยัดพลังงาน
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ห้องสมุดมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
    สายสัมพันธ์ คีรีรัตน์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2021)
    แนวทางการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ห้องสมุดมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการจัดทำและการดำเนินการตามระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์การดำเนินการตามระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย 3) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาประสิทธิผลของการดำเนินงานห้องสมุดตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 ให้แก่สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน แบ่งงานวิจัยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับกลุ่มผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทั้งหมดจำนวน 10 ท่าน โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 2 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามสำหรับผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดมหาวิทยาลัย และแบบสอบถามสำหรับผู้ใช้บริการสำนักบรรณสารการพัฒนา ผลการวิจัยพบว่า 1) แนวทางไปสู่ระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ได้ทั้งหมด 12 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ผู้บริหารกำหนดนโยบายคุณภาพ สื่อสารกับบุคลากร จัดสรรและสนับสนุนทรัพยากร (2) การฝึกอบรมให้ความรู้ (3) ผู้บริหารแต่งตั้งคณะทำงาน (4) วิเคราะห์บริบทขององค์กร (5) กำหนดวัตถุประสงค์คุณภาพ (6) จัดทำเอกสารในระบบบริหารคุณภาพ (7) การประเมินสมรรถนะ (8) การประเมินผู้ให้บริการภายนอก (9) การตรวจติดตามภายใน (Internal Audit) (10) การทบทวนระบบบริหารคุณภาพ (Management Review) (11) การประเมินระบบบริหารคุณภาพภายนอก (External Audit) (12) ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 2) ผลสัมฤทธิ์การดำเนินการตามระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 หลักการของ Balanced Scorecard คือ (1) มิติประสิทธิผล ISO 9001:2015 เป็นการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการอุดมศึกษาไทย ตามมาตรฐานสากล บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของมหาวิทยาลัย สร้างนวัตกรรม ลดความซ้ำซ้อน การปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และบทบาทของผู้บริหาร (2) มิติผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ใช้บริการห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ผู้บริหารมหาวิทยาลัย (3) มิติการบริหารจัดการ ห้องสมุดเป็นหน่วยงานให้บริการมุ่งสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการ ปรับปรุงกระบวนงานสม่ำเสมอตามวงจร PDCA (4) มิติการเรียนรู้และการพัฒนา พัฒนาความรู้ความสามารถผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดโดยจัดหลักสูตรตรงต่อความต้องการ และจัดการความรู้ 3) แนวทางการพัฒนาประสิทธิผลของการดำเนินงานห้องสมุดตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 ให้แก่สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ควรจัดตั้งหน่วยงานรับรองมาตรฐานสากลที่มีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานระบบบริหารคุณภาพ ISO และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านประกันคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ควรเสริมสร้างค่านิยมการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน ผู้บริหารควรสนับสนุนให้มีการจัดประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน ฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ สำนักบรรณสารการพัฒนาต้องมีการสำรวจความพึงพอใจและความต้องการของผู้ใช้บริการ และสนับสนุนการจัดการความรู้ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในสถาบัน
  • Thumbnail Image
    Item
    ความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนที่มีต่อภาพลักษณ์สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
    กนกวรรณ จันทร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2018-12-08)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนที่มีต่อภาพลักษณ์สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ การวิจัยนี้มุ่งศึกษาบุคลากรสายสนับสนุนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในทุกตำแหน่งงานจากคณะ/สำนักต่าง ๆ รวม 24 หน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น 520 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) โดยหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และสถิติอนุมาน (Inferential Statistics) เพื่อทำการทดลองสมมติฐาน ได้แก่ การเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ย 2 กลุ่ม ด้วยค่าที (t-test) การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) ผลการศึกษาวิจัย พบว่า 1. บุคลากรสายสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 24-38 ปี สถานภาพสมรส มีการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นพนักงานสถาบัน อยู่ในตำแหน่งงานระดับปฏิบัติการ มีประสบการณ์การทำงานในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 10-20 ปี ได้รับเงินเดือน 20,001-25,000 บาท และหน่วยงานที่สังกัด คือ กองกลาง 2. ความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนที่มีต่อภาพลักษณ์สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในภาพรวม จำนวน 5 ด้าน บุคลากรสายสนับสนุนมีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์อยู่ในระดับดีมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ภาพลักษณ์ด้านสถานที่ และด้านการบริการห้องสมุด อยู่ในระดับดีมากที่สุด และภาพลักษณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านทรัพยากรสารสนเทศ และด้านบุคลากร อยู่ในระดับดีมาก 3. ความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนที่มีต่อภาพลักษณ์สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในประเด็นตามรายเรื่อง จำนวน 20 เรื่อง บุคลากรสายสนับสนุนมีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์อยู่ในระดับดีมากที่สุด จำนวน 8 เรื่อง ตามลำดับดังนี้ 1) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ออกแบบและตกแต่งอาคารทันสมัย สวยงาม และสะอาด 2) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะแก่การศึกษาดูงานและเยี่ยมชมของสถาบัน 3) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ 4) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จัดพื้นที่บริการเป็นสัดส่วนและเหมาะสม 5) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้บริการเชิงรุก (เช่น Book Delivery & Return Service (BDRS) เป็นต้น 6) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ทันสมัย 7) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้บริการหลากหลายช่องทางและเข้าถึงได้สะดวก เช่น โทรศัพท์ เว็บไซต์ อีเมล์ และตู้คืนหนังสือด้วยตนเอง เป็นต้น และ 8) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทรัพยากรสารสนเทศหลากหลายประเภท 4. บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านการบริการห้องสมุด และภาพลักษณ์ด้านสถานที่สูงกว่ากลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 5. บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีประสบการณ์การทำงานในสถาบันไม่นาน (ไม่ถึง 10 ปี) เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านการบริการห้องสมุด และภาพลักษณ์ด้านบุคลากรสูงกว่ากลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนที่มีประสบการณ์การทำงานในสถาบันนาน (มากกว่า 10 ปีขึ้นไป) 6. บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่สังกัดหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงกว่ากลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนที่สังกัดหน่วยงานที่ไม่จัดการเรียนการสอน ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า 1. ความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนที่มีต่อภาพลักษณ์สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์โดยรวมระดับดีมาก และรายด้านในระดับดีมากที่สุด คือ ด้านการบริการห้องสมุด ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 2.บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านการบริการห้องสมุดมากกว่าบุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 3. บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีประสบการณ์การทำงานในสถาบันไม่นาน (ไม่ถึง 10 ปี) เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านการบริการห้องสมุดมากกว่าบุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่มีประสบการณ์การทำงานในสถาบันนาน (มากกว่า 10 ปีขึ้นไป) ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4. บุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่สังกัดหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าบุคลากรสายสนับสนุนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่สังกัดหน่วยงานที่ไม่จัดการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้