การนับอายุความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้ กรณีผู้เสียหายเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ
by รังสิมา ดาราพงษ์
Title: | การนับอายุความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้ กรณีผู้เสียหายเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ |
Other title(s): | Counting the persciption for marking a complaint in the compoundable offense in the case of injured person is the lack of ability |
Author(s): | รังสิมา ดาราพงษ์ |
Advisor: | วราภรณ์ วนาพิทักษ์ |
Degree name: | นิติศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree department: | คณะนิติศาสตร์ |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2017 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
วิทยานิพนธ์เล่มนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาเรื่องการนับอายุความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้ กรณีผู้เสียหายเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาถึงแนวคิดทฤษฎีและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดอันยอมความได้ ทั้งในเรื่องการร้องทุกข์ การฟ้องร้องดำเนินคดี อายุความ และการนับอายุความกรณีผู้เสียหายเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบและนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
จากผลการศึกษาพบว่า การนับอายุความร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้ อายุความ 3 เดือน เริ่มนับเมื่อผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้น ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทุกคนจะต้องดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีด้วยตนเองให้ทันภายในระยะเวลา 3 เดือน มิฉะนั้นจะหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีทางอาญาเอากับผู้กระทำความผิดได้อีก ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำความผิดกับผู้เสียหายที่เป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ คือ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจเกรงกลัวไม่กล้าบอกผู้ใดเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการร้องทุกข์ หรือไม่สามารถไปร้องทุกข์ด้วยปัญหาจากสภาพร่างกายหรือจิตใจ ทำให้ไม่สามารถร้องทุกข์ได้ทันในกำหนดอายุความ และส่งผลผู้กระทำความผิดรอดพ้นจากการดำเนินคดีไปได้โดยง่าย แม้กฎหมายของประเทศไทยจะมีการคุ้มครองบุคคลผู้หย่อนความสามารถไว้โดยให้ผู้มีอำนาจจัดการแทน คือ ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล และผู้แทนเฉพาะคดี ของผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนวิกลจริต ให้สามารถร้องทุกข์หรือดำเนินคดีอาญาแทนได้ แต่ก็ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการนับอายุความไว้ในกรณีดังกล่าวไว้ชัดเจน การนับอายุความโดยทั่วไปจะนับจากวันที่ผู้เสียหายคือบุคคลผู้หย่อนความสามารถนั้นรู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำความผิด มีเพียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20603/2556 ที่มีการตัดสินให้เริ่มนับอายุความเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมทราบ โดยถือเสมือนว่าผู้เสียหายรู้ความผิดจากการบอกกล่าวของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจนเรื่องอายุความของบุคคลผู้หย่อนความสามารถไว้ให้แตกต่างจากบุคคลทั่วไปซึ่งมีความสามารถเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎหมายที่มีแนวคิดเดียวกันกับความผิดอันยอมความได้กำหนดให้การนับระยะเวลาซึ่งต้องร้องทุกข์เริ่มนับแต่ผู้แทนตามกฎหมายของบุคคลผู้หย่อนความสามารถรู้การกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยผู้แทนตามกฎหมาย คือผู้แทนตามกฎหมายทุกประเภทที่มีอำนาจในการปกครองดูแลบุคคลผู้หย่อนความสามารถ การบัญญัติกฎหมายในเรื่องการนับอายุความร้องทุกข์ของต่างประเทศจึงความชัดเจนกว่าของประเทศไทยและสามารถคุ้มครองบุคคลผู้หย่อนความสามารถได้ทุกประเภท
ดังนั้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงได้เสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลผู้หย่อนความสามารถให้มากกว่าบุคคลที่มีความสามารถเต็ม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 โดยเพิ่มเติมวรรคสอง ให้ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ ให้อายุความร้องทุกข์เริ่มนับเมื่อผู้มีอำนาจจัดแทนผู้เสียหายรู้การกระทำและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) และมาตรา 6 โดยเพิ่มเติมให้ผู้มีอำนาจจัดการแทนรวมถึงผู้พิทักษ์ของคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และผู้แทนเฉพาะคดีของบุคคลซึ่งมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งไม่มีผู้พิทักษ์ หรือซึ่งผู้พิทักษ์ไม่สามารถทำหน้าที่โดยเหตุใดเหตุหนึ่ง รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เสมือนไร้ความสามารถที่มีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบด้วย เพื่อให้มีการคุ้มครองบุคคลผู้หย่อนความสามารถทุกประเภท |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2560 |
Keyword(s): | e-Thesis
ความผิด (กฎหมาย) ผู้หย่อนความสามารถ การนับอายุความร้องทุกข์ |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 113 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/3768 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|