ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทย
by วิมลมาศ เจียรมาศ
Title: | ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทย |
Other title(s): | Social return on investment of electricity generation from refuse derived fuel (RDF) power plant in Thailand |
Author(s): | วิมลมาศ เจียรมาศ |
Advisor: | วิสาขา ภู่จินดา |
Degree name: | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การจัดการสิ่งแวดล้อม |
Degree department: | คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การดำเนินการของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทย ทั้งในส่วนของนโยบายส่งเสริมและสนับสนุน ศักยภาพ และข้อจำกัดจากการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ อีกทั้งประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) จากการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF รวมถึงเสนอแนวทางการเพิ่มผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนจากการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และจากการสัมภาษณ์ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จำนวน 6 ท่าน ผู้แทนจากบริษัทผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF โดยเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่มีกระบวนการดำเนินการที่เต็มรูปแบบ จำนวน 1 แห่ง และประชาชน ซึ่ที่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF รัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 11 ท่าน โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาทำการวิเคราะห์โดยจับกลุ่มประเด็นตามหลักการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน นอกจากนั้นทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทย
ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์การดำเนินการของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ในประเทศไทยในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งมีการกำหนดนโยบายและมาตรฐานต่างๆ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Feed in Tariff (FiT) การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร มาตรการจูงใจด้านราคาโดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) เป็นระยะเวลา 7 ปี ตลอดจนการสนับสนุนโครงการ “โรงไฟฟ้า-ประชารัฐ” สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น สำหรับศักยภาพ ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะนั้น พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะ เพราะยังคงมีปริมาณขยะคงค้างอีกราว 9.96 ล้านตันในปี 2559 ที่ยังไม่ได้นำไปกำจัด และเมื่อประเมินศักยภาพของปริมาณขยะเชิงพื้นที่ พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่หลายแห่งที่มีศักยภาพเพียงพอในการดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ส่วนข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พบว่า ข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การดำเนินการลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ต้องชะลอหรือระงับลง ได้แก่ 1) ขั้นตอน และ กฎระเบียบ มากเกินความจำเป็น 2) การมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในการขออนุญาตประกอบการ 3) พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ขาดความคล่องตัว
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF มีค่าของผลตอบแทนทางด้านสังคมจากการลงทุนระหว่าง -1.00 ถึง 12.65 ในระยะเวลาโครงการ 20 ปี ด้านเศรษฐกิจ คือ การได้รับประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าของชุมชน ด้านสังคม คือ การจ้างงานพนักงานซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น และด้านสิ่งแวดล้อม คือ สร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น
แนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF สามารถเป็นไปได้ใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้ แนวทางระยะสั้น ได้แก่ ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF ให้ได้เต็มตามศักยภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF ให้แก่แรงงานในประเทศไทย และแนวทางระยะยาว ได้แก่ สนับสนุนโครงการเดิมที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานมาเป็นต้นแบบ และมีการเผยแพร่ผลการดำเนินการดังกล่าวฯ สู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่น ได้ปฏิบัติตาม และสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงขยะ RDF ในชุมชนได้เอง |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (การจัดการสิ่งแวดล้อม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | โรงไฟฟ้า -- แง่สิ่งแวดล้อม -- ไทย
โรงไฟฟ้า -- การลงทุน |
Keyword(s): | e-Thesis
โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ข้อจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 154 แผ่น |
Type: | Tex |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/4998 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|