ประสิทธิผลของการพัฒนาจิตเชิงบวกต่อความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
by อดิศา วสวานนท์
Title: | ประสิทธิผลของการพัฒนาจิตเชิงบวกต่อความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย |
Other title(s): | Effectiveness of promoting positive psychology towards elderly care among senior in high school students |
Author(s): | อดิศา วสวานนท์ |
Advisor: | ดุจเดือน พันธุมนาวิน |
Degree name: | ศิลปศาตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การบริหารการพัฒนาสังคม |
Degree department: | คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประสิทธิผลของการพัฒนาจิตเชิงบวกต่อความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ และการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และเพื่อศึกษาสาเหตุสมทบทางด้านจิตลักษณะและสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4 และ 5 จำนวน 6 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 472 คน ซึ่งเป็นนักเรียนเพศชาย จำนวน 211 คน (ร้อยละ 44.7) นักเรียนเพศหญิง จำนวน 261 คน (ร้อยละ 55.3) เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 204 คน (ร้อยละ 43.2) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 268 คน (ร้อยละ 56.8)
การวิจัยนี้ได้ใช้รูปแบบการวิจัยแบบ Post test – Only with Control Group Design โดยทำการสุ่มแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยวิธีการสุ่มโดยไม่ลำเอียง (Random Assignment) เข้ากลุ่มทดลอง ดังนี้ นักเรียนกลุ่มที่ 1 จำนวน 120 คน ได้รับสารชักจูงส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุและสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี นักเรียนกลุ่มที่ 2 จำนวน 118 คน ได้รับสารชักจูงส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุและสารควบคุมการใช้สินค้าไทย นักเรียนกลุ่มที่ 3 จำนวน 118 คน ได้รับสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดีและสารควบคุมการเรียนภาษาอังกฤษ นักเรียนกลุ่มที่ 4 จำนวน 116 คน ได้รับสารควบคุมการใช้สินค้าไทยและสารควบคุมการเรียนภาษาอังกฤษ หลังจากอ่านบทความเป็นเวลา 15 นาที จึงให้ตอบคำถามในแบบวัด
ตัวแปรในงานวิจัยนี้ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มตัวแปรจัดกระทำจิตเชิงบวก คือ การได้รับสารชักจูงการส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ และการได้รับสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี 2) กลุ่มจิตลักษณะสมทบ ได้แก่ ทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน ความเชื่ออำนาจในตน และการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา 3) กลุ่มตัวแปรสถานการณ์สมทบ ได้แก่ การเห็นแบบอย่างการดูแลผู้สูงอายุจากบุคคลรอบข้าง การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและใช้เหตุผล การเห็นแบบอย่างที่ดีจากสื่อ และประสบการณ์จากโรงเรียนเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 4) กลุ่มตัวแปรความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ และความพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นดูแลผู้สูงอายุ 5) กลุ่มตัวแปรชีวสังคมภูมิหลัง เช่น เพศ เกรดเฉลี่ยสะสม ลักษณะครอบครัว การศึกษาบิดา-มารดา เป็นต้น แบบวัดในงานวิจัยนี้เป็นแบบวัดชนิดมาตรประเมินค่า มีการวิเคราะห์ผลทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อย 26 กลุ่ม
ผลการวิจัยที่สำคัญมี 3 ประการดังนี้ ประการแรก พบว่า นักเรียนที่ได้รับสารชักจูงส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ ได้รับสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี และมีลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนสูง มีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นดูแลผู้สูงอายุมากกว่า นักเรียนที่ไม่ได้รับสารชักจูงส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ ไม่ได้รับสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี และมีลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนต่ำ ประการที่ 2 ปัจจัยด้านจิตลักษณะสมทบและสถานการณ์สมทบ รวมเป็น 8 ตัวแปร สามารถทำนายความพร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มรวมได้ 47.6% โดยมีตัวทำนายที่สำคัญตามลำดับจากมากไปน้อย คือ ทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน การเห็นแบบอย่างการดูแลผู้สูงอายุจากบุคคลรอบข้าง การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมีค่าเบต้า ได้แก่ .49, .12, .11 และ .10 และ 2) ความพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มรวม 54.9% โดยมีตัวทำนายที่สำคัญเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการเห็นแบบอย่างที่ดีจากสื่อ โดยมีค่าเบต้า ได้แก่ .44, .24, .19 ประการที่สาม ผลการวิเคราะห์อิทธิพลเชิงเส้น พบว่า ตัวแปรกลุ่มการจัดกระทำ มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อจิตเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ โดยผ่านกลุ่มตัวแปรจิตลักษณะสมทบ และกลุ่มตัวแปรด้านสถานการณ์สมทบ โดยพบว่าตัวแปรแฝงที่มีอิทธิพลโดยรวมต่อตัวแปรแฝงความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ตัวแปรแฝงการอ่านสารชักจูงการมองโลกในแง่ดีตัวแปรแฝงการอ่านสารชักจูงทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ตัวแปรแฝงจิตลักษณะสมทบ และตัวแปรแฝงสถานการณ์สมทบ โดยค่าสัมประสิทธิ์การทำนาย (R2) ของสมการโครงสร้างตัวแปรภายในของตัวแปรแฝงจิตเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ มีค่าเท่ากับ 0.693
จากผลการวิจัย พบว่าการได้รับสารชักจูงส่งเสริมทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ และ/หรือการได้รับสารชักจูงการพัฒนาการมองโลกในแง่ดี ส่งผลให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเสริมสร้างประสิทธิผลของการพัฒนาจิตเชิงบวกต่อความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุในนักเรียนมัธยมศึกษษาตอนปลาย ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) สามารถนำผลการวิจัยมาพัฒนาต่อในการสร้างชุดการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ทำกิจกรรมอื่นร่วมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ และมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ควรทำวิจัยโดยการเก็บข้อมูลจากหลายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย หรือศึกษาเจาะลึกในภูมิภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อช่วยในการยืนยันผลที่พบว่าความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ส่งผลต่อจิตเชิงบวกต่อผู้สูงอายุหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งอาจะมีการศึกษาตัวแปรอื่นเพิ่มเติม ที่คาดว่าจะมีความสัมพันธ์กับจิตเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ เช่นทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก การมองแบบเหมารวม เป็นต้น และเพื่อให้ผลการวิจัยมีความชัดเจนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในการทำวิจัยครั้งต่อไปควรมีการทำวิจัยในเชิงคุณภาพในกลุ่มตัวอย่างที่สำคัญควบคู่ไปด้วย โดยใช้วิธีการสนทนาแบบกลุ่ม (Focus Group) หรือการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ซึ่งจะทำให้สามารถตอบคำถามการวิจัยให้มีความครอบคลุมและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น |
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (การบริหารการพัฒนาสังคม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | ผู้สูงอายุ -- การดูแล
นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย |
Keyword(s): | ความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ
ทัศนคติที่ดีที่จะดูแลผู้สูงอายุ จิตพฤติกรรมศาสตร์ e-Thesis |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 257 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Rights holder(s): | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5106 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|