การบริหารจัดการองค์การภาคประชาสังคมที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสู่ครอบครัวเข้มแข็ง
by นราวาดี อินทวงษ์
Title: | การบริหารจัดการองค์การภาคประชาสังคมที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสู่ครอบครัวเข้มแข็ง |
Other title(s): | Civil society organization management influencing to the effectiveness for strongness of families |
Author(s): | นราวาดี อินทวงษ์ |
Advisor: | หลี่ เหรินเหลียง |
Degree name: | ศิลปศาสาตรมหาบัณฑิต |
Degree level: | Master's |
Degree discipline: | การบริหารการพัฒนาสังคม |
Degree department: | คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม |
Degree grantor: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Issued date: | 2019 |
Publisher: | สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ |
Abstract: |
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การบริหารจัดการองค์การของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ 2) สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์การสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ และ 3) ประสิทธิผลการดำเนินงานของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ จำนวน 15 คน คือ บุคลากรในสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่การดำเนินงานของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์และภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ ผลการศึกษาพบว่า
1) การบริหารจัดการองค์การ พบว่าสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์มีการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับคณะทำงานในการมาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยอาศัยความสามารถของคณะทำงานในการกำหนดเป้าหมาย จัดระเบียบและจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์การผ่านกระบวนการการบริหารจัดการองค์การที่ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคลากร การประสานงาน และการควบคุม และมีการพัฒนา “หลักสูตร” ที่ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านครอบครัวดำเนินไปสู่ความสำเร็จและบรรลุความต้องการอย่างมีประสิทธิผล กลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดครอบครัวเข้มแข็ง
2) สภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์การ พบว่าภายใต้การบริหารจัดการองค์การของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมจากภายในและภายนอกองค์การ โดยสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการองค์การ ได้แก่ วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์องค์การ โครงสร้างองค์การ วัฒนธรรมองค์การและผู้นำ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมภายในองค์การยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในองค์การเองด้วย ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์การ ได้แก่ นโยบายรัฐ ภาคีเครือข่ายและสภาพแวดล้อมชุมชน ซึ่งเป็นจุดที่น่าสังเกตว่าความสัมพันธ์ขององค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การช่วยให้กระบวนการบริหารจัดการภายในองค์การสามารถดำรงอยู่ได้นานกว่า 13 ปี สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อองค์การได้เป็นอย่างดี
3) ประสิทธิผลการดำเนินงาน พบว่าสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ มีประสิทธิผลในการดำเนินงานที่ชัดเจน มีการบูรณาการและเชื่อมร้อยการทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมที่สถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์จัดขึ้น เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ภายในครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยให้ครอบครัวในจังหวัดสุรินทร์มีความเข้มแข็งขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันภายในครอบครัว มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ สามารถพึ่งตนเองและพึ่งสมาชิกในครอบครัวได้ และครอบครัวที่เข้มแข็งยังสามารถเกื้อกูลแก่ครอบครัวอื่นหรือสมาชิกในชุมชนด้วย ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งเป็นทุนทางสังคมที่เกื้อหนุนสมาชิกในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
ในการบริหารจัดการองค์การของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์การที่มีลักษณะ “แชร์ เชื่อม ชื่นชม” กล่าวคือ แชร์ (Share) ในการประชุมต่าง ๆ กลายเป็นพื้นที่แบ่งปันที่ทำให้คณะทำงานได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน เชื่อม (Link) มีการเชื่อมร้อยการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานมีการชื่นชม (Admire) ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อสร้างกำลังใจให้คนทำงานรู้สึกมีความสุขและได้รับพลังบวกกลับไปพัฒนางานครอบครัวในพื้นที่ของตนเองต่อไป
ทั้งนี้ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญว่าสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ควรมีกองทุนหรือแนวทางในการระดมทุน เพื่อนำมาเสริมศักยภาพคนทำงานและบริหารจัดการองค์การให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรหาแนวทางในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ มีอุดมการณ์และความเป็นจิตอาสา เช่น แกนนำเยาวชนในพื้นที่ แกนนำชุมชนอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อมาร่วมปฏิบัติงานและสานอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็งผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมต่อไป
|
Description: |
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (การบริหารการพัฒนาสังคม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2562 |
Subject(s): | สถาบันครอบครัว |
Keyword(s): | e-Thesis
การบริหารจัดการองค์การ ภาคประชาสังคม องค์การภาคประชาสังคม |
Resource type: | วิทยานิพนธ์ |
Extent: | 350 แผ่น |
Type: | Text |
File type: | application/pdf |
Language: | tha |
Rights: | ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0) |
URI: | https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/5248 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View ทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดในคลังปัญญา ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนและการค้นคว้าเท่านั้น และต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้งที่นำไปใช้ ห้ามดัดแปลงเนื้อหา และทำสำเนาต่อ รวมถึงไม่ให้อนุญาตนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
|
This item appears in the following Collection(s) |
|
|