GSTM: Theses

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 6 of 156
  • Thumbnail Image
    Item
    ปัจจัยด้านการจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม เซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา
    พงศกร เกตุประภากร; กนกกานต์ แก้วนุช (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ในจังหวัดพังงา และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ในจังหวัดพังงา โดยต้องมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดอย่างน้อย 1 ครั้ง และไม่เกิน 5 ปี จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีในการเลือกตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-probability Sampling) โดยการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และการเลือกตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenience Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม (Questionnaire) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA : F-test) และการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 31 – 35 ปี สถานสภาพสมรส/อยู่ด้วยกัน การศึกษาระดับปริญญาตรี ประกอบอาชีพนักกีฬา มีรายได้ระหว่าง 25,001 – 35,000 บาท และภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคใต้ พฤติกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard ในจังหวัดพังงา เพราะระดับน้ำและคลื่นมีความเหมาะสมกับทักษะการเล่น Surfboard เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard จำนวน 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน และ 2 – 3 วันต่อครั้งที่มาพังงา โดยใช้อุปกรณ์ประเภท Shortboard เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard เป็นส่วนใหญ่ เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard กับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน และเข้าร่วมกิจกรรม Surfboard ในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยว พบว่า โดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านส่งเสริมการตลาด รองลงมา คือ ด้านกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดที่เข้าร่วม ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม ด้านความสะดวกในการเดินทาง และด้านคุณภาพการบริการ และต่ำที่สุด คือ ด้านสถานที่พักอาศัย ตามลำดับ และสำหรับผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า 1) พฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านเหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนวันที่เข้าร่วมกิจกรรม ประเภทของการเข้าร่วมกิจกรรม และบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมแตกต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) ปัจจัยด้านกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดที่เข้าร่วม ด้านความสะดวกในการเดินทาง ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม และด้านคุณภาพการบริการ ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี
    อารยา ยอดฉิม; กนกกานต์ แก้วนุช (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    การวิจัยนี้ศึกษาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี วัตถุประสงค์การศึกษามีดังนี้ 1) เพื่อศึกษาศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี 2) เพื่อศึกษาความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age 3) เพื่อศึกษาสมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานี 4) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และ 5) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี โดยการวิจัยครั้งเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ซึ่งการดำเนินงานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีการเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 400 คนโดยใช้แบบสอบถาม สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ระยะที่สองดำเนินการวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้ผลการวิจัยที่ได้จากการเชิงปริมาณเพื่อพิจารณาคัดเลือกประเด็นปัญหาและผู้ให้ข้อมูล ซึ่งผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่เก็บจากผู้ให้ข้อมูลหลักจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ/เอกชน และภาคประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัดอุทัยธานี และใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่าพบว่าระดับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักท่องเที่ยวมีความต้องการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวมากที่สุด ในขณะที่สมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานีโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่อุทัยธานี โดยด้านความปลอดภัยส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่อุทัยธานีสูงที่สุด และปัจจัยด้านสมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานี ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยความสามารถทางการตลาดส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีสูงที่สุด
  • Thumbnail Image
    Item
    การพัฒนาโมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุขององค์ประกอบคุณภาพ ภาพลักษณ์ และความพึงพอใจที่ส่งผลต่อความภักดีของผู้เข้าร่วมงานเทศกาลอาหารถิ่นในเขตปริมณฑล
    กรัณย์ วรวิทย์วรรณ; พัทรียา หลักเพ็ชร (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาการรับรู้คุณภาพของงานเทศกาล ภาพลักษณ์ ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานเทศกาลอาหารถิ่น 2) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านคุณภาพ ภาพลักษณ์ ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน และความภักดีของผู้เข้าร่วมงาน 3) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบรูปแบบของโมเดลความสัมพันธ์โครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุขององค์ประกอบคุณภาพ ภาพลักษณ์ และความพึงพอใจที่ส่งผลต่อความภักดีของผู้เข้าร่วมงานเทศกาลอาหารถิ่นในเขตปริมณฑล 4) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาการจัดงานเทศกาลอาหารถิ่น จากมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานเทศกาลอาหารถิ่น การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 480 ตัวอย่าง พบว่าการรับรู้ภาพลักษณ์ของงานเทศกาล และการรับรู้ความพึงพอใจของผู้เข้ารวมงานเทศกาลอยู่ในระดับการรับรู้มาก ส่วนการรับรู้คุณภาพของงานเทศกาลอยู่ในระดับการรับรู้มากที่สุด ส่วนการทดสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างและการทดสอบสมมติฐานพบว่าทั้งหมดมีความสัมพันธ์เชิงบวก ส่วนผลการศึกษาทางด้านอิทธิพล และ​การพัฒนาและตรวจสอบรูปแบบของโมเดลความสัมพันธ์โครงสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 พบว่าคุณภาพของงานเทศกาล และภาพลักษณ์ของงานเทศกาล มีอิทธิพลทางตรงต่อความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานเทศกาล (DE=0.650* และ 0.282* ตามลำดับ) และพบว่าคุณภาพของงานเทศกาล ภาพลักษณ์ของงานเทศกาล และความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานเทศกาล ต่างมีอิทธิพลทางตรงต่อความภักดีต่องานเทศกาลของผู้เข้าร่วมงาน (DE=0.346*, 0.238* และ 0.345* ตามลำดับ)  คุณภาพของงานเทศกาล และภาพลักษณ์ของงานเทศกาล ต่างมีอิทธิพลทางอ้อมต่อความภักดีต่องานเทศกาลของผู้เข้าร่วมงานผ่านตัวแปรส่งผ่านความพึงพอใจของผู้เข้ารวมงานเทศกาล (IE=0.224 และ 0.097 ตามลำดับ) คุณภาพของงานเทศกาลมีอิทธิพลโดยรวมต่อความพึงพอใจ และความภักดีของผู้เข้าร่วมงานเทศกาล (β = 0.650 (DE = 0.650); p < 0.05) และ (β = 0.650 (DE = 0.346 + IE = 0.224); p < 0.05) ภาพลักษณ์ของงานเทศกาลมีอิทธิพลโดยรวมต่อความพึงพอใจ และความภักดีของผู้เข้าร่วมงาน (β = 0.282 (DE = 0.282); p < 0.05) และ (β = 0.282 (DE = 0.238 + IE = 0.097); p < 0.05) ส่วนความพึงพอใจของผู้เข้ารวมงานเทศกาลมีอิทธิพลโดยรวมต่อความภักดีของผู้เข้าร่วมงาน (β = 0.345 (DE = 0.345); p < 0.05) และโมเดลมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องผลการศึกษาเชิงปริมาณแล้ว ได้มีการนำมาวิเคราะห์ร่วมกับการศึกษาเชิงคุณภาพ เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการจัดงานเทศกาลอาหารถิ่น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) แนวทางการพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพของงานเทศกาลอาหารถิ่นให้มีคุณภาพ 2) แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก 3) แนวทางการบูรณาการการจัดงานเทศกาลอาหารถิ่นโดยสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 4) แนวทางการส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์งานเทศกาลอาหารถิ่น โดยแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ผู้จัดงานสามารถยกระดับคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความพึงพอใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน และสามารถสร้างความภักดี เพื่อให้เข้าร่วมงานซ้ำแก่ผู้เข้าร่วมงานได้ในอนาคต การวิจัยครั้งนี้สามารถนำผลการศึกษาไปต่อยอดเพื่อสนับสนุนการจัดงานเทศกาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมที่ดีสำหรับการจัดงานเทศกาลในครั้งถัดไป
  • Thumbnail Image
    Item
    การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจการเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรมของผู้เข้าพักชาวไทยในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย
    ณัฐพล อ่องเพชร; เทิดชาย ช่วยบำรุง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกโรงแรมของผู้เข้าพักชาวไทยในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจการเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรมของผู้เข้าพักชาวไทยในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย โดยการใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือ กลุ่มตัวอย่างคือผู้เข้าพักชาวไทยที่มาใช้บริการโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย จำนวน 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้นำไปลงรหัสต่าง ๆ และทำการประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS และใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics), ใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรโดยการวิเคราะห์ ไคสแควร์ (Chi-Square Test) ,Independent-Samples T-Test ,One-way ANOVA และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ (Multiple Regression Analysis) เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน อธิบาย บรรยาย หรือสรุปผล ผลการศึกษา พบว่า ผู้เข้าพักชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ ระหว่าง 21-30 ปี สถานภาพโสด การศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี อาชีพ นักเรียน/นักศึกษา และรายได้ระหว่าง 10,001-30,000 บาท พฤติการการรับประทานอาหารนอกโรงแรมซึ่งบุคคลที่ร่วมรับประทาน ส่วนใหญ่ไปรับประทานกับครอบครัว/ญาติ สิ่งที่มีผลต่อการเลือกรับประทาน ชมทิวทัศน์ สถานที่ในการเลือกรับประทาน เพราะบรรยากาศเหมาะสม ช่วงเวลาในการรับประทาน 18.01 น. - 22.00 น. เหตุผลในการเลือกรับประทาน พบปะสังสรรค์ ผู้มีอิทธิพลในการเลือกรับประทาน เพื่อน/แฟน ความถี่ในการรับประทานบางครั้ง โดยค่าเฉลี่ยปัจจัยในการเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรม โดยรวมมีค่ามากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านรสชาติและคุณภาพ ด้านบรรยากาศและสถานที่ ด้านความหลากหลาย มีค่ามากที่สุด การวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างลักษณะประชากรศาสตร์กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกโรงแรมของผู้เข้าพักชาวไทย ในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทยด้วยสถิติทดสอบไคสแควร์ พบว่า ผู้เข้าพักชาวไทยที่มีเพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา และอาชีพ แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกโรงแรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนผู้เข้าพักชาวไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกโรงแรม ไม่แตกต่างกัน การวิเคราะห์ลักษณะประชากรศาสตร์กับการตัดสินใจการเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรมของผู้เข้าพักชาวไทย ในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ด้วยสถิติ T-test และ F-test พบว่า ผู้เข้าพักชาวไทยที่มีสถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน ตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนผู้เข้าพักชาวไทยที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพแตกต่างกัน การตัดสินใจการเลือกรับประทานอาหารนอกโรงแรม ไม่แตกต่างกัน ผลของการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression) พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ คือ ความสะอาดและรสชาติของอาหาร มีอาหารเมนูจานพิเศษแนะนำ มีการตกแต่งอาหารให้สวยงาม มีความพร้อมในการบริการ มีความน่าเชื่อถือในการบริการ บริการได้ถูกต้องครบถ้วน มีความตรงต่อเวลาในการให้บริการ มีการบริการที่เป็นมาตรฐาน มีการระบุราคาสินค้าที่ชัดเจน สามารถเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจบริโภค สามารถใช้บัตรสมาชิก/บัตรส่วนลดเพื่อลดราคาได้ การชำระเงินที่ถูกต้องและรวดเร็ว อาหารตรงตามที่โฆษณา คุณภาพของอาหาร การปรุงอาหารแบบดั้งเดิม เลือกใช้วัตถุดิบตามแบบดั้งเดิม ได้รับรางวัลด้านคุณภาพอาหาร การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่มีความหลากหลาย การสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ มีโปรโมรชันรายการพิเศษในช่วงเทศกาล ความหลากหลายในด้านประเภทอาหาร บรรยากาศเหมาะสมกับการรับประทานอาหาร สถานที่สำหรับจอดรถในร้านอาหาร การให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ มีการจองโต๊ะล่วงหน้าทางโทรศัพท์ พนักงานให้บริการเสมอภาคเหมือนกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
  • Thumbnail Image
    Item
    ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง  กรณีศึกษา:จังหวัดนครศรีธรรมราช
    สุวิทย์ พิศแลงาม; ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) เพื่อศึกษาองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อความจงรักภักดีต่อจุดหมายปลายทาง 3) เพื่อประเมินศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 4) เพื่อเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Research Methodology) ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบการวิจัยระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมและพักค้างคืนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2566 จำนวน 304 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (Multiple Regression Analysis) สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยงานละ 1 คน และตัวแทนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์แบบแก่นสาระ (Thematic Analysis) ผลการศึกษาพฤติกรรมในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า พฤติกรรมก่อนเดินทางผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว 1 - 2 ครั้ง/ปี โดย มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว/พักผ่อนหย่อนใจ เดินทางมาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) จำนวน 3 - 4 วัน เคยเดินทางมาเที่ยวแล้ว 1 - 2 ครั้ง ค้นหาข้อมูลก่อนเดินทางผ่านเว็บไซต์ทางการ (Official Website) ค้นหาจาก Google Maps รองลงมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สื่อสังคมออนไลน์ค้นหาจาก Facebook และจากคำชักชวนจากเพื่อน ญาติ หรือครอบครัว โดยมีเพื่อนเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทาง และเหตุผลที่ในการตัดสินใจมาจากคำชักชวนของครอบครัว/เพื่อน โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการซื้อ/จองซื้อโดยตรงกับชุมชน/แหล่งท่องเที่ยว ด้านพฤติกรรมระหว่างเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราชกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่สนใจ คือกิจกรรมเที่ยวหมู่บ้านคีรีวงชมวิถีชุมชนในพื้นที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีผู้ร่วมเดินทางเป็นญาติ/ครอบครัว ส่วนใหญ่ใช้บริการสถานที่พักประเภทโรงแรม/รีสอร์ท โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีใช้จ่ายไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน (ต่อคน) ต่ำกว่า 3,000 บาท/วัน และใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นยานพาหนะที่ใช้เดินทางไปยังเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราชและใช้ในการท่องเที่ยว ด้านพฤติกรรมหลังเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความต้องการกลับมาเที่ยวซ้ำแน่นอน และมีความต้องการบอกต่อให้ผู้อื่นหรือคนรู้จักพร้อมทั้งมีความเต็มใจจะจ่ายมากขึ้นและมีความต้องการปกป้องในกรณีที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีข่าวด้านลบ สำหรับผลการศึกษาองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อความจงรักภักดีต่อจุดหมายปลายทาง พบว่า จากการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ ตัวแปรที่สามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ความจงรักภักดีต่อจุดหมายปลายทาง ได้แก่ องค์ประกอบการท่องเที่ยว ด้านความดึงดูดใจของแหล่งท่องเที่ยว ด้านความสามารถในการเข้าถึงของแหล่งท่องเที่ยว ด้านความจริงแท้ และด้านการยอมรับของคนในพื้นที่ และผลการศึกษาศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าศักยภาพที่ต้องพัฒนาได้แก่ 1) ด้านเจ้าบ้าน 2) ด้านความร่วมมือ 3) ด้านการพัฒนา 4) ด้านแหล่งท่องเที่ยว จากผลการศึกษาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้ แนวทางที่ 1 พัฒนาความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน แนวทางที่ 2 พัฒนาการทำการตลาดออนไลน์เพื่อส่งเสริมธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยว แนวทางที่ 3 ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างจริงจังและตรงจุด แนวทางที่ 4 พัฒนามาตรฐานและศักยภาพผู้ให้บริการ และแนวทางที่ 5 ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการท่องเที่ยว
  • Thumbnail Image
    Item
    การพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยววิ่งเทรลเพื่อสุขภาพ
    จิราภรณ์ ชัยมงคล; สุวารี นามวงค์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    การวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นที่จะศึกษาเรื่อง  การพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยววิ่งเทรลเพื่อสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อทราบถึงปัจจัยผลักดันเชิงสุขภาพในการวิ่งเทรลที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่งเทรล 2) เพื่อทราบถึงปัจจัยดึงดูดในการวิ่งเทรลเชิงสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่งเทรล 3) เพื่อทราบถึงองค์ประกอบเสริมของการจัดงานวิ่งเทรลเพื่อสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่งเทรล 4) เพื่อทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการวิ่งเทรลกับการตัดสินใจกลับมาร่วมงานวิ่งเทรล โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Approach) กลุ่มตัวอย่างคือ นักวิ่งชาวไทยที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งเทรลที่จัดขึ้นในประเทศไทยในระยะทางที่ไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร อย่างน้อย 1 ครั้ง จำนวน 266 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้สถิติการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ในการวิเคราะห์ข้อมูลหาอิทธิพลของปัจจัยผลักดัน ปัจจัยดึงดูด องค์ประกอบเสริมที่มีต่อความพึงพอใจ และความพึงพอใจที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกลับมาร่วมงานวิ่งเทรล ผลการวิจัยสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ พบว่า ปัจจัยผลักดันเชิงสุขภาพในการวิ่งเทรล มีอิทธิพลเชิงบวกต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่งเทรล โดยด้านการเรียนรู้ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุด รองลงมา คือ ด้านจิตวิทยา ด้านจิตวิญญาณ และด้านผลสัมฤทธิ์ ตามลำดับ สำหรับปัจจัยดึงดูดในการวิ่งเทรลเชิงสุขภาพ มีอิทธิพลเชิงบวกต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่งเทรล โดยด้านความปลอดภัย เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุด รองลงมา คือ ด้านขั้นตอนการดำเนินงาน และด้านผู้จัดงาน สำหรับองค์ประกอบเสริมของการจัดงานวิ่งเทรลเพื่อสุขภาพ มีอิทธิพลเชิงบวกต่อความพึงพอใจในการร่วมงานวิ่ง โดยด้านที่พักแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และความพึงพอใจต่อการวิ่งเทรล มีอิทธิพลเชิงบวกต่อการตัดสินใจกลับมาร่วมงานวิ่งเทรล นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ ยังมีประโยชน์เชิงวิชาการในการช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในฝั่งอุปสงค์ (Demand) เกี่ยวกับแรงจูงใจในการร่วมงานวิ่งเทรลต่อความพึงพอใจและการตั้งใจกลับมาวิ่ง สำหรับทางด้านการปฏิบัติการ ได้แก่ ผู้ประกอบการสามารถนำผลวิจัยไปปรับใช้ในการเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา รวมถึงนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเพื่อสุขภาพให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและจุดหมายปลายทางเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการอย่างเหมาะสม และเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและตัดสินใจกลับมาร่วมงานวิ่งอีกครั้งในอนาคต