GSTM: Theses

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 6 of 145
  • Thumbnail Image
    Item
    ปัจจัยด้านการจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม เซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา
    พงศกร เกตุประภากร; กนกกานต์ แก้วนุช (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ในจังหวัดพังงา และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ในจังหวัดพังงา โดยต้องมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดอย่างน้อย 1 ครั้ง และไม่เกิน 5 ปี จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีในการเลือกตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น (Non-probability Sampling) โดยการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และการเลือกตัวอย่างแบบตามสะดวก (Convenience Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม (Questionnaire) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA : F-test) และการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 31 – 35 ปี สถานสภาพสมรส/อยู่ด้วยกัน การศึกษาระดับปริญญาตรี ประกอบอาชีพนักกีฬา มีรายได้ระหว่าง 25,001 – 35,000 บาท และภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคใต้ พฤติกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard ในจังหวัดพังงา เพราะระดับน้ำและคลื่นมีความเหมาะสมกับทักษะการเล่น Surfboard เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard จำนวน 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน และ 2 – 3 วันต่อครั้งที่มาพังงา โดยใช้อุปกรณ์ประเภท Shortboard เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard เป็นส่วนใหญ่ เข้าร่วมกิจกรรม Surfboard กับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน และเข้าร่วมกิจกรรม Surfboard ในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยว พบว่า โดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านส่งเสริมการตลาด รองลงมา คือ ด้านกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดที่เข้าร่วม ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม ด้านความสะดวกในการเดินทาง และด้านคุณภาพการบริการ และต่ำที่สุด คือ ด้านสถานที่พักอาศัย ตามลำดับ และสำหรับผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า 1) พฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านเหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนวันที่เข้าร่วมกิจกรรม ประเภทของการเข้าร่วมกิจกรรม และบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมแตกต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) ปัจจัยด้านกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ดที่เข้าร่วม ด้านความสะดวกในการเดินทาง ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม และด้านคุณภาพการบริการ ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยในจังหวัดพังงา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี
    อารยา ยอดฉิม; กนกกานต์ แก้วนุช (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2023)
    การวิจัยนี้ศึกษาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี วัตถุประสงค์การศึกษามีดังนี้ 1) เพื่อศึกษาศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี 2) เพื่อศึกษาความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age 3) เพื่อศึกษาสมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานี 4) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และ 5) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่ม Silver Age ในจังหวัดอุทัยธานี โดยการวิจัยครั้งเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ซึ่งการดำเนินงานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีการเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 400 คนโดยใช้แบบสอบถาม สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ระยะที่สองดำเนินการวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้ผลการวิจัยที่ได้จากการเชิงปริมาณเพื่อพิจารณาคัดเลือกประเด็นปัญหาและผู้ให้ข้อมูล ซึ่งผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่เก็บจากผู้ให้ข้อมูลหลักจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ/เอกชน และภาคประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัดอุทัยธานี และใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่าพบว่าระดับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักท่องเที่ยวมีความต้องการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวมากที่สุด ในขณะที่สมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานีโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Silver Age ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่อุทัยธานี โดยด้านความปลอดภัยส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่อุทัยธานีสูงที่สุด และปัจจัยด้านสมรรถนะด้านการจัดการที่พึงประสงค์ของผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดอุทัยธานี ส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยความสามารถทางการตลาดส่งผลต่อศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีสูงที่สุด
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการพัฒนาสมรรถนะของมัคคุเทศก์เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
    เจนนิสตรา สิริศรีเสริมวงศ์; ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    การวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องการพัฒนาสมรรถนะของมัคคุเทศก์เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 2) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 3) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านสมรรถนะของมัคคุเทศก์ที่ส่งผลต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลชาวไทย 4) เพื่อประเมินสมรรถนะของมัคคุเทศก์นำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในปัจจุบัน และ 5) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของมัคคุเทศก์เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Approach) รวบรวมข้อมูลแบบสอบถามจากนักท่องเที่ยวชาวไทยในเขตกรุงเทพมหานครที่เคยเดินทางท่องเที่ยวประเภทการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 300 คน ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเพื่อหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอนุมาน เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ และหาอิทธิพลของตัวแปร โดยใช้ ค่าสถิติ One-way ANOVA และค่าสถิติการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) ผลการศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เกิดในช่วงพ.ศ.2523-2540 Generation Y  เป็นพนักงาน/ปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี มีรายได้ 15,000 - 20,000 บาท ทำงานให้กับองค์กรในช่วงเวลา 1-5 ปี ในธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม (ยานยนต์/วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร/บรรจุภัณฑ์/กระดาษและวัสดุการพิมพ์/ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์) สถานภาพโสด สำหรับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสาร และค้นหาข้อมูลก่อนการเดินทางท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ (เว็บไซต์/ Facebook/Line) โดยต้องการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่เคยเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลเพียง 1 ครั้ง ไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ทั้งนี้ผู้จัดการเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท และ 3,001-5,000 บาท มีจำนวนผู้ร่วมเดินทางประมาณ 21-30 ท่าน และ 10-20 ท่าน ระยะเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวที่ต้องการคือ 1-2 วันและ 3-4 วัน รวมถึงช่วงเวลาที่ต้องการในการเดินทางท่องเที่ยว คือ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) สำหรับภาคที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือภาคใต้ และต้องการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ภูเขา/ทะเล/น้ำตก/บ่อน้ำแร่ ฯลฯ) รวมถึงกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่ต้องการคือ เที่ยวชมเมือง ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม ในขณะที่ที่พักแรมที่ต้องการพักคือ รีสอร์ทและโรงแรม ส่วนพาหนะหลักที่ต้องการเดินทาง คือ รถบัส นอกจากนี้ยังต้องการมัคคุเทศก์ที่สนุกสนาน ร่าเริง เฮฮา สามารถสร้างความบันเทิงได้ตลอดการเดินทาง และช่องทางในการบอกต่อเรื่องราวและประสบการณ์การเดินทางจะแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สำหรับผลการศึกษาความสำคัญของสมรรถนะมัคคุเทศก์กับสมรรถนะมัคคุเทศก์ในปัจจุบัน พบว่า สมรรถนะด้านความรู้ ได้แก่ ความรู้และข้อมูลทั่วไป มีช่องว่างเกิดขึ้นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ความรู้ในงานที่ได้รับมอบหมาย และความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว สมรรถนะด้านทักษะ ได้แก่ ทักษะนันทนาการ มีช่องว่างเกิดขึ้นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการสร้างประสบการณ์ และสมรรถนะด้านคุณลักษณะ ได้แก่ จิตบริการ มีช่องว่างเกิดขึ้นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และมนุษยสัมพันธ์ดี สำหรับปัจจัยด้านสมรรถนะของมัคคุเทศก์ที่ส่งผลต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลชาวไทย พบว่า สมรรถนะด้านความรู้ ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ในงานที่ได้รับมอบหมาย และความรู้และข้อมูลทั่วไป สมรรถนะด้านทักษะ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะการนำเสนอ สื่อความหมาย และนักการขาย ทักษะนันทนาการ ทักษะวิชาชีพ ทักษะการใช้สื่อสังคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และทักษะการสร้างประสบการณ์ สมรรถนะด้านคุณลักษณะ ได้แก่ ความภาคภูมิใจในงาน การตรงต่อเวลา การมีมนุษยสัมพันธ์ดี และจริยธรรมและจรรยาบรรณ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประสบการณ์การท่องเที่ยว โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของมัคคุเทศก์เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ 1) การเสริมสร้างสมรรถนะของมัคคุเทศก์เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และ 2) การเสริมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 
    ปุริมปรัชญ์ ส่งศรี; ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3) เพื่อศึกษาระดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมและระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ 4) เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามจากประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำราบ ม.4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จำนวน 146 คน  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1) การแจกแจงหาความถี่ร้อยละ 2) การหาค่าเฉลี่ย 3) การหาค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4) สถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของสองกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระต่อกัน 5) สถิติ F-test (One -Way ANOVA) 6) สถิติ Paired Sample t-test สำหรับค่าความแตกต่างหรือช่องว่างระหว่างระดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมและระดับการมีส่วนร่วม ผลการศึกษา พบว่า วัตถุประสงค์ที่ 1 ปัจจัยด้านภาวะผู้นำ ด้านความเข้มแข็งของชุมชน ด้านความตระหนักที่มีต่อการพัฒนาชุมชน ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ และด้านผลประโยชน์ตอบแทน มีอิทธิพลเชิงบวกต่อระดับความต้องการการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 วัตถุประสงค์ที่ 2 ปัจจัยด้านภาวะผู้นำ ด้านความเข้มแข็งของชุมชน ด้านความตระหนักที่มีต่อการพัฒนาชุมชน ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ด้านผลประโยชน์ตอบแทน และด้านความรู้ความเข้าใจของประชาชน ไม่มีอิทธิพลเชิงบวกต่อระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 วัตถุประสงค์ที่ 3 ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมและระดับการมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจ ด้านการรับผลประโยชน์ ด้านการดำเนินการ และด้านการประเมินผล พบว่า ระดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมมีความแตกต่างกับระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมและรายด้านทุกด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 จากผลการศึกษานี้นำไปสู่ วัตถุประสงค์ที่ 4 ข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ 1) แนวทางการพัฒนาการสร้างความรับรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรภายในชุมชนบ้านน้ำราบ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 2) แนวทางการพัฒนาการประชาสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้นำในชุมชนกับสมาชิกในชุมชน 3) แนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนและกลุ่มเครือข่ายชุมชน 4) แนวทางการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายภาคีทางด้านการท่องเที่ยว และ 5) แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการประเมินผลการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
  • Thumbnail Image
    Item
    อิทธิพลของความสุขในงานที่มีต่อความทุ่มเทมีใจของพนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการ
    ที คงประดิษฐ; โชคชัย สุเวชวัฒนกูล (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    การศึกษาวิจัยในครั้งมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความสุขในงานและความทุ่มเทมีใจของพนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการ 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลของความสุขในงานและความทุ่มเทมีใจของพนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการใช้รูปแบบการวิจัยวิจัยแบบเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ด้วยวิธีการวิจัยเชิงอนาคต (Future Research) ด้วยเทคนิค Delphi Forecasting กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือ พนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการ จำนวน 203 คน  สถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s Correlation Coefficient และ สถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression) ผลในการวิจัยครั้งนี้พบว่า 1) ความสุขในงานของพนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการ ด้านความประสบความสำเร็จในงานมีความสัมพันธ์เชิงบวก กับการเสริมสร้างความทุ่มเทมีใจด้านการยอมรับเป้าหมายขององค์กร ด้านความต้องการที่จะเป็นสมาชิกระยะยาวในองค์กร ด้านความพยายามและทุ่มเทเพื่อการสำเร็จขององค์กร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 2) ความสุขในงานของพนักงานบริษัทผู้ประสานงานการจัดการประชุมและนิทรรศการ ด้านความประสบความสำเร็จในงาน ด้านความหลงใหลในงาน ด้านการถูกยอมรับ ด้านความประสบความสำเร็จในงาน และด้านมนุษยสัมพันธ์ มีอำนาจในการทำนายความทุ่มเทมีใจของพนักงานได้ร้อยละ 63.0
  • Thumbnail Image
    Item
    แนวทางการจัดการโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อตอบสนองต่อการกลับมาใช้บริการซ้ำของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา
    ณัฐชานันท์ นุ่นมีสี; เทิดชาย ช่วยบำรุง (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2022)
    วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมของเด็กชาวจีนในการใช้บริการโรงแรมระดับ 5 ดาว ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา ในมุมมองของพ่อแม่ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการจัดการโรงแรมระดับ 5 ดาว สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลับมาใช้บริการซ้ำโรงแรมระดับ 5 ดาว สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา และ 4) เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดการโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อตอบสนองต่อการกลับมาใช้บริการซ้ำของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา เป็นการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ กลุ่มตัวอย่างคือนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมากับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี และเคยเข้าพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา จำนวน 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ได้แก่ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนาประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ความถี่ ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมานประกอบด้วย การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson's Correlation Coefficient) และการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ (Multiple Regression) ผลการศึกษา พบว่า พฤติกรรมของเด็กชาวจีนในการใช้บริการโรงแรมระดับ 5 ดาว ส่วนใหญ่เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานต้อนรับส่วนหน้า บรรยากาศในห้องพัก อาหารสำหรับเด็ก และการให้บริการของสโมสรสำหรับเด็ก ทางด้านประสิทธิผลของการจัดการโรงแรมระดับ 5 ดาว สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กระหว่างรอเช็คอิน ความสะอาดและความปลอดภัยภายในห้องพักสำหรับเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การให้บริการของสโมสรสำหรับเด็ก  และในส่วนปัจจัยที่ส่งผลการกลับมาใช้บริการซ้ำโรงแรมระดับ 5 ดาว สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน คือ ความปลอดภัย พนักงานบริการ และความสะอาด จากผลการศึกษาข้างต้นสามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้เป็นแนวทางแนวทางการจัดการโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อตอบสนองต่อการกลับมาใช้บริการซ้ำของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน ในเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยา ได้แก่ 1) แนวทางเพื่อยกระดับการให้บริการของโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว 2) แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาจีนของบุคลากรที่ให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน 3) แนวทางเพื่อยกระดับความปลอดภัยของสถานที่ กิจกรรม การให้บริการในทุกรูปแบบที่มีความเกี่ยวข้องกับการให้บริการเด็ก 4) แนวทางการปรับปรุงและพัฒนาด้านการตลาดของโรงแรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวชาวจีน และ 5) แนวทางการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมสำหรับเด็กภายในโรงแรม เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว